The Grandmaster: After Tang Chang
ละลานตา ไฟน์อาร์ต มีความยินดีนำเสนอนิทรรศการโดย วิชิต นงนวล ผลงานที่สร้างบทสนทนากับจ่าง แซ่ตั้ง ศิลปินระดับปรมาจารย์ในยุคสมัยใหม่ของไทย หากแต่ในยุคอดีต ก่อนระบบทุนนิยมจะถือกำเนิด ยังไม่มีแนวคิดเรื่องลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา การลอกเลียนแบบครูบาอาจารย์ก็เป็นวัตรปฏิบัติที่ทำกันเป็นปกติในโลกของการสร้างสรรค์ ไม่ต่างจาก วิชิต นงนวล ซึ่งหลงใหลศรัทธาในผลงานของ จ่าง แซ่ตั้ง ตั้งแต่ครั้งยังเยาว์ ในวัยของนักเรียนนักศึกษา เรื่อยมาจนเติบโตเป็นศิลปินอาชีพ จนในที่สุดก็สุกงอมออกดอกผลเป็นผลงานศิลปะในนิทรรศการที่ได้จัดร่วมกับภัณฑารักษ์ ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ เป็นเสมือนหนึ่งการสร้างบทสนทนากับศิลปินระดับปรมาจารย์ผู้นี้ ซึ่งสามารถจำแนกแยกออกมาเป็นสามแนวทาง
แนวทางแรก คือการลอกเลียนผลงานของ จ่าง แซ่ตั้ง ความทรงจำที่เคยได้สังเกตและสัมผัสผลงานของปรมาจารย์ด้วยตา และการศึกษากระบวนการทำงาน วิถีปฏิบัติ ตลอดจนประเภทของสีและวัสดุที่ใช้ จากการบอกเล่าจากปากของทายาทของจ่างโดยตรง จนปรากฏเป็นผลงานที่ถึงแม้จะไม่เหมือนกับต้นฉบับอย่างไม่ผิดเพี้ยน หากแต่ก็สามารถเก็บเอาอารมณ์ ความรู้สึก และจิตวิญญาณแบบจ่างออกมาให้เราได้สัมผัสอย่างครบถ้วน ราวกับเป็นการพลิกฟื้นคืนชีวิตจ่างให้หวนกลับมาสร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหม่ขึ้นมาก็ไม่ปาน
แนวทางที่สอง แสดงให้เห็นถึงรูปแบบและเทคนิคการทำงานอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของศิลปิน ไม่ว่าจะเป็นการจำลองหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของจ่างอย่าง ตัดมือกวี ควักตาจิตรกร (1973) ศิลปินได้ตีความผลงานชิ้นนี้ขึ้นมาใหม่ด้วยการสร้างขึ้นจากกระบวนการถักทอขนสัตว์ (Wool) แทนการใช้สีสันบนผืนผ้าใบ ถึงแม้เส้นใยสิ่งทออันนุ่มนวลละมุนละไม ผู้ชมก็ยังคงสัมผัสถึงปณิธานอันแรงกล้าในการประท้วงต่อต้านการล่วงละเมิดและปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนที่จ่างส่งผ่านภาพนี้ออกมาได้อยู่ดี ศิลปินยังใช้กระบวนการเดียวกันนี้ บอกเล่าเรื่องราวของจ่างและครอบครัว การถักทอเส้นใยธรรมชาติอันนุ่มนวลอ่อนโยนให้กลายเป็นภาพของครอบครัวแซ่ตั้ง ก็เปรียบเสมือนสายใยแห่งความผูกพันที่ถักทอร้อยรัดสมาชิกครอบครัวเหล่านี้และสายสัมพันธ์และความรักของเหล่าบรรดาทายาทรุ่นหลังนี่เอง
แนวทางที่สาม คือการสร้างบทสนทนาด้วยการจำลองรูปกายของจ่างและเหล่าบรรดาทายาทของเขาขึ้นมาใหม่ ในรูปของประติมากรรมสามมิติ ด้วยเทคนิคการถักทอขนสัตว์ หรือการทำงานเครื่องเคลือบดินเผาด้วยกระบวนการที่ล้อเลียนภูมิปัญญาโบราณของญี่ปุ่น ในการซ่อมแซมเครื่องปั้นดินเผาที่แตกหักเสียหายอย่าง คินสึงิ (Kintsugi) สะท้อนวิถีทางและปรัชญาการทำงานของจ่าง ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภูมิปัญญาและปรัชญาแบบตะวันออก มากกว่าจะได้รับอิทธิพลจากวิถีทางศิลปะแบบตะวันตก เฉกเช่นศิลปินในกระแสความเคลื่อนไหวแบบศิลปะสมัยใหม่ของไทยในยุคสมัยเดียวกัน วิชิตยังแสดงออกถึงวิถีคิดแบบตะวันออกของจ่างผ่านการลอกเลียนแบบรูปเล่มหนังสือวรรณกรรม ที่เป็นผลงานการแปลของจ่าง อย่าง “อา Q” ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในหนังสือต้องห้ามในยุคสมัยหนึ่งของสังคมไทย
นอกจากนี้ ศิลปินยังถ่ายทอดความหลงใหลศรัทธาในตัวของ จ่าง แซ่ตั้ง ผ่านผลงานศิลปวัตถุที่กินได้ในรูปของ ช็อกโกแลต การลดช่องว่างระหว่างศิลปะกับผู้ชม เปิดโอกาสให้ผู้ชมเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ตอบโต้กับผลงานศิลปะ เป็นแนวทางที่นอกจากจะสะท้อนถึงความเป็นศิลปินหัวก้าวหน้าผู้มาก่อนกาล (Avant-garde) ของจ่างแล้ว ยังแสดงถึงการใช้เทคนิคกรรมวิธีอันหลากหลายแพรวพราวในการสร้างสรรค์ผลงานชุดนี้ของวิชิตเช่นกัน
การลอกเลียน ตีความ และสร้างบทสนทนากับผลงานของศิลปินระดับปรมาจารย์ของไทยอย่าง จ่าง แซ่ตั้ง ก็ขับเน้นให้เห็นถึงความยอดเยี่ยม ไร้กาลเวลา ที่ปรากฏในตัวตนและผลงานของจ่าง ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งนี้ยังแสดงให้เห็นว่า ทุกสิ่งที่เราค้นพบ ทุกสิ่งที่เราสร้างสรรค์ ทุกความสำเร็จที่เราได้รับนั้น หาใช่ความสำเร็จของเราแต่เพียงลำพังไม่ หากแต่ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ต่อยอดจากการสร้างสรรค์สั่งสมของคนรุ่นก่อนหน้าเราทั้งสิ้น และในท้ายที่สุด เราเองก็จะเป็นบันไดให้คนรุ่นถัดไปเช่นเดียวกัน เพราะเราต่างก็เป็น คนแคระที่ยืนบนบ่ายักษ์ นั่นเอง
ประวัติศิลปิน
วิชิต นงนวล เป็นศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงในหมู่นักสะสมงานศิลปะ เจ้าของแกลเลอรี่ และผู้หลงใหลงานศิลปะในยุโรปและสหรัฐอเมริกา หลังจากศึกษาที่มหาวิทยาลัยศิลปากรมาหลายปี วิชิตหันมาเริ่มสนใจเทคนิคการปั้นดินเผาหรือ เซรามิก และเริ่มสร้างผลงานจากวัสดุที่เขาชื่นชอบมาอย่างต่อเนื่อง วิชิตได้ก่อตั้ง Eco-Clay สตูดิโอในกรุงเทพฯ ผลงานประติมากรรม
ของเขาได้นำไปจัดแสดงในงานอาร์ตแฟร์ทั่วโลก วิชิตเป็นผู้ค้นหาแรงบันดาลใจใหม่ๆอย่างไม่หยุดยั้ง ชอบการอ่านหนังสือ และการถอดรหัสแนวโน้มของโลกแห่งการสร้างสรรค์ในยุคสมัยใหม่ เพื่อนำการวาดภาพพอร์ตเทรตแนวศิลปะรูปลักษณ์ (Figurative portraiture) และแนวคิดทางนามธรรม มาผสมผสานเป็นชื้นงานที่โดดเด่น
นิทรรศการที่ผ่านมาของวิชิตได้นำเสนอผลงานที่ เวียดนาม กัมพูชา จีน เยอรมนี และ สหรัฐอเมริกา
นิทรรศการจะเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม เวลา 18.00 - 20.00
และจะจัดแสดงที่ละลานตา ไฟน์อาร์ต ตั้งเเต่วันที่ 11 มกราคม ถึง 26 กุมภาพันธ์ 2568