การวาดภาพภูมิทัศน์เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในประวัติศาสตร์ศิลป์มาช้านาน โดยนอกจากจะเป็นการสะท้อนถึงช่วงเวลาหนึ่งทั้งในแง่ของเทคนิคแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองหรือค่านิยมของผู้คนในยุคนั้นๆ อีกด้วย ในประเทศญี่ปุ่นช่วงยุคสมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603-1868) ศิลปินมักสร้างสรรผลงานที่แลดูค่อนข้างแบนราบเมื่อเทียบกับศิลปินในยุคเดียวกันในฝั่งตะวันตก พวกเขาไม่ได้ใช้จุดรวมสายตา (Vanishing point) เพื่อสร้างความลึกตื้นของงานศิลปะ ดังจะเห็นได้จากกลุ่มงานภาพอูกิโยะ (Ukiyo-e) จนกระทั่งในช่วงสมัยเมจิ (ค.ศ. 1968-1912) เป็นต้นมา เราจึงได้เห็นอิทธิพลจากศิลปะตะวันตกหลอมรวมกับศิลปะในญี่ปุ่น และในปัจจุบันศิลปินร่วมสมัยใหม่ๆ ยังคงค้นคว้าหาวิธีนำเสนอผลงานศิลปะในกลุ่มภูมิทัศน์ และวิธีการดึงผู้ชมให้มีความรู้สึกร่วมกับงานอยู่เสมอ
ศิลปิน อากิระ อิชิกูโระ พิเคราะห์ผลงานของตัวเองว่าอยู่ในกลุ่มภูมิทัศน์ เมื่ออ้างอิงถึงหนังสือเช่น The Planet in a pebble (ค.ศ. 2010) โดยนักธรณีวิทยา แยน ซาลาซีวิช (Jan Zalasiewicz) เราอาจบอกได้ว่า อิชิกูโระไม่ได้พยายามจะนำเสนอภูมิทัศน์เพื่อสื่อถึงความกว้างขวาง หรือระลึกถึงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่เป็นการนำเสนอภูมิทัศน์โดยตัดจุดรวมสายตาหรือมิติตื้นลึกออกไปอย่างสิ้นเชิง ในผลงานชุด Gravitational Field (ค.ศ. 2011-ปัจจุบัน) ศิลปินนำเสนอช่วงเวลาของ Holocene (ชื่อเรียกยุคสมัยทางธรณีวิทยาในปัจจุบัน ประมาณหนึ่งหมื่นกว่าปีเป็นต้นมา) ผ่านพื้นผิวของหินอ่อน โดยการเพ่งพินิจถึงเส้นสายของแร่ธาตุที่อยู่ในลวดลายหินอ่อนว่าเป็นการก้าวผ่านวันเวลานับล้านปี การมองในระดับจุลทัศน์อาจบอกเราได้ว่าบรรยากาศโดยรอบของหินชิ้นนั้นมีที่มาอย่างไร ผ่านความชื้น แร่ธาตุ อากาศธาตุ และสภาพแวดล้อม ทำให้เราจินตนาการถึงพื้นที่และสิ่งมีชีวิตรอบๆ พื้นที่เหล่านั้น ในขณะที่ผลงานชุด Marblesque (ค.ศ. 2015-ปัจจุบัน) เป็นการนำเสนอภูมิทัศน์ของยุคปัจจุบันและอนาคตซึ่งคือ Anthropocene
ในนิทรรศการ Elevated Marblesque ศิลปินเผยให้เห็นถึงพัฒนาการจากชุด Marblesque โดยการยกระดับของพื้นผิวผ้าใบเป็นสองชั้น เพื่อยืดเหยียดความรู้สึกของการแปรสภาพของชั้นหินเข้าหาผู้ชม ผลักให้ระนาบผิวของผ้าใบจ่อประชิดกับสายตามากขึ้น เพื่อสร้างความหนาแน่น ประหนึ่งเป็นการเผยให้เห็นถึงภูมิประเทศ ลักษณะโคกเนินและระดับความสูงของโลกเรา เสมือนเป็นการเชื้อเชิญให้ผู้ชมพินิจถึงองค์ประกอบทาง เคมี ฟิสิกซ์ และ ชีวภาพของบรรยากาศโดยรอบมากกว่าจะพูดถึงภูมิทัศน์ในแบบที่เราคุ้นเคย
ในผลงานชุดนี้ ศิลปินนำเสนอแนวคิดว่าชั้นดิน ก้อนหิน และแร่ธาตุในโลกอนาคตจะมีส่วนผสมปนเปื้อนจากพฤติกรรมของมนุษย์ตั้งแต่ยุค “The Great Acceleration” ในปี ค.ศ. 1950 ทำให้ลวดลายของหินเช่นเส้นสายของแร่ซึ่งปรากฏบนหินอ่อนมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากหินอ่อนในยุคปัจจุบัน ศิลปินจึงตั้งคำถามถึง คุณภาพน้ำ และ คุณภาพอากาศและขยะที่ถูกทับถมในปัจจุบันนี้ จะส่งผลต่อการก่อร่างสร้างตัวของธรรมชาติในอนาคตอย่างไร อีกทั้งยังตั้งคำถามว่าผู้คนในโลกอนาคตจะจินตนาการถึงภูมิทัศน์ของโลกปัจจุบันนี้ในแบบใดเมื่อมองส่องลงไปถึงส่วนผสมของก้อนหินและแร่ธาตุในระดับจุลทัศน์
นิทรรศการ Elevated Marblesque ได้แสดงให้เห็นอีกครั้งว่าศิลปิน อากิระ อิชิกูโระ มีความเชี่ยวชาญในการนำเสนอผัสสะ น้ำหนัก มวล และพื้นผิวของวัตถุได้อย่างชำนาญ
*โดยนิทรรศการจะหยุดวันอาทิตย์ - จันทร์
CR.https://www.bangkokartcity.org/exhibition-th/elevated-marblesque
160, 3 Soi Sukhumvit 39, Khlong Tan Nuea, Watthana, Bangkok 10110 Bangkok, 10110 Thailand
VIEW MAP