A New Encounter, Immersive Gallery of Korean Art Zipevent

A New Encounter, Immersive Gallery of Korean Art

20 Nov 2022 - 21 May 2023
09:00 - 16:00 (UTC+7)
Museum Thailand

Event Information


A New Encounter, Immersive Gallery of Korean Art

 

 

 

 

 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เกาหลี ร่วมกับกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ประเทศไทย จัดนิทรรศการ “สัมผัสประสบการณ์ใหม่: ศิลปะเกาหลีในโลกเสมือนจริง” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร  นิทรรศการครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕ถึงวันอาทิตย์ที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๖  เป็นการนำมรดกทางวัฒนธรรมแบบประเพณีของเกาหลีมาจัดแสดงร่วมกับสื่อดิจิทัลให้มีบรรยากาศเสมือนจริง โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการถ่ายทำและอธิบายเรื่องราว จำนวน ๒ เรื่อง  ร่วมกับการแสดงประติมากรรมที่เป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาของไทยและเกาหลีประเทศละหนึ่งองค์

 

นิทรรศการนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อให้ชาวไทยที่มีความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมเกาหลีได้รับชม  และในอีกด้านหนึ่งถือว่าเป็นนิทรรศการที่มีความหมายต่อวัฒนธรรม K-Culture เพราะได้นำเอามรดกทางวัฒนธรรมแบบประเพณีของเกาหลีมานำเสนอผ่านวีดิทัศน์ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเสมือนจริง  ซึ่งถือว่าเป็นนิทรรศการรูปแบบใหม่ และมุ่งหวังให้นิทรรศการนี้ช่วยสร้างความเข้าใจวัฒนธรรมความเชื่อในพุทธศาสนาของทั้งสองประเทศได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งผู้ชมสามารถเข้าใจเนื้อหาได้อย่างง่ายดาย โดยมีนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และ Yoon Sung Yong ผู้อำนวยการใหญ่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เกาหลี ร่วมพิธีเปิดนิทรรศการอย่างเป็นทางการ เมื่อเร็ว ๆ นี้

 

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร  ความร่วมมือทางวิชาการและ    แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมร่วมกัน ระหว่างกรมศิลปากร และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเกาหลี ว่า “ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ในเดือนนี้ เพื่อแสดงออกถึงการเชื่อมโยงมิติทางวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เกาหลี และกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จึงร่วมกันจัดนิทรรศการครั้งนี้เป็นการนำมรดกทางวัฒนธรรมแบบประเพณีของเกาหลีมาตีความใหม่ โดยใช้สื่อดิจิทัลในรูปแบบ Immersive เป็นเครื่องมือในการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้เสมือนจริง นอกจากนี้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เกาหลี ยังได้นำประติมากรรมหินขนาดใหญ่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนามาจัดแสดงร่วมกับประติมากรรมของไทย เพื่อใช้เป็นสื่อประกอบการเล่าเรื่องเพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงและเข้าใจในเรื่องความเชื่อทางพุทธศาสนาของชาวเกาหลีได้โดยง่าย”

 

Yoon Sung Yong ผู้อำนวยการใหญ่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เกาหลี กล่าวว่า นับตั้งแต่ประเทศไทย และประเทศเกาหลี ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมร่วมกันในปี ค.ศ ๒๐๑๙ ในวันนี้ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดทั่วโลก แต่เราก็ได้จัดนิทรรศการขึ้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน รวมทั้งจัดแสดงเป็นแห่งแรกในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนิทรรศการครั้งนี้เป็นการพบกันครั้งแรกระหว่างมรดกวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศ โดยมีรูปปั้นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ๒ องค์จากทั้งสองประเทศที่นำมาจัดแสดงร่วมกัน ซึ่งถูกสร้างขึ้นในสถานที่ที่ต่างกัน และมีอายุยาวนานกว่า ๑,๐๐๐ ปีก่อน

 

รวมทั้งเป็นการพบกันระหว่างประเพณีดั้งเดิม และสมัยใหม่  ผ่านภาพยนตร์ดิจิทัลเสมือนจริง ๒ เรื่องที่ผลิตโดยพิพิธภัณฑ์แห่งชาติเกาหลีซึ่งนำมาเสนอในนิทรรศการนี้ ทั้งหมด ๒ เรื่อง คือ เรื่อง “การเดินทางของวิญญาณ” และ “กระบวนพยุหยาตราและผู้คน” เรื่องราวเหล่านี้ปรากฏหลักฐานอยู่ในภาพจิตรกรรม “พญายมราชทั้งสิบ” และ “อึย-คเว” บันทึกของราชสำนักสมัยราชวงศ์โชซอน ซึ่งเป็นสมบัติที่เก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เกาหลี และได้รับการคุ้มครองโดย UNESCO ในเนื้อหาเรื่อง “การเดินทางของวิญญาณ” ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลจะนำพาเราก้าวข้ามไปพบกับโลกหลังความตาย การพิพาษาและการเวียนว่ายตายเกิดตามคติพุทธศาสนา ส่วนในเรื่อง “กระบวนพยุหยาตราและผู้คน” ทุกท่านจะได้สัมผัสบรรยากาศของพิธีกรรมที่ยิ่งใหญ่และงดงามตามธรรมเนียมในลัทธิขงจื๊อในสมัยโชซอน เป็นการปลุกกระแส K-Culture ให้กลับมามีชีวิตให้เราท่านได้เรียนรู้เรื่องราวในอดีต ณ เวลาปัจจุบันได้อย่างเต็มตา

 

วัฒนธรรม K-Culture รูปแบบใหม่, นิทรรศการที่ท่านจะได้สัมผัสกับมรดกทางวัฒนธรรมแบบประเพณีของเกาหลีในรูปแบบดิจิทัล

 

นิทรรศการครั้งนี้มีเนื้อหาที่สำคัญคือ สื่อวีดิทัศน์ดิจิทัลเสมือนจริง เรื่อง “การเดินทางของวิญญาณ” และ “กระบวนพยุหยาตราและผู้คน” ซึ่งสร้างขึ้นจากเรื่องราวในสมัยราชวงศ์โชซอน (พ.ศ. ๑๙๓๕ – ๒๔๕๓) จากภาพจิตรกรรมในพุทธศาสนา “พญายมราชทั้งสิบ” และ อึย-คเว(แบบธรรมเนียมในราชสำนัก) บันทึกทางการของราชสำนักโชซอน ซึ่งทั้งสองรายการ เป็นสมบัติที่เก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เกาหลี ได้ถูกนำเสนอด้วยวิธีการใหม่ในการเข้าไปท่องสำรวจภายในผลงานศิลปะจากอดีตโดยข้ามพ้นข้อจำกัดทางกายภาพ สื่อดิจิทัลพาโนรามาที่ฉายภาพเต็มพื้นที่ห้องจัดแสดงจะนำพาให้เราพบกับการพิพากษาหลังความตายและการเวียนว่ายตายเกิดตามคติพุทธศาสนาใน “การเดินทางของวิญญาณ” “กระบวนพยุหยาตราและผู้คน”จะนำเราไปสู่สถานที่ในการจัดพิธีกรรมใหญ่ ตามธรรมเนียมในลัทธิขงจื้อ ด้วยแสงและสีที่สวยสดงดงาม เสียงอันอลังการ รวมถึงเรื่องราวที่เกี่ยวกับโลกหลังความตายตามคติความเชื่อของชาวเกาหลี และปลุกความทรงจำอันล้ำค่าในช่วงเวลาของกระบวนพยุหยาตรา เรื่องราวที่พิเศษเหล่านี้ ได้นำเสนอผ่านมรดกทางวัฒนธรรมแบบดิจิทัลทำให้เราได้สัมผัสกับชีวิตในอดีต ณ เวลาปัจจุบันอย่างเต็มตา

 

นิทรรศการมรดกทางวัฒนธรรมพุทธศาสนาของไทยและเกาหลีที่มาบรรจบกันในพื้นที่เดียวกัน

 

นิทรรศการครั้งนี้ได้จัดแสดงประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ๒ องค์ที่แตกต่างกันจากสองประเทศในโลกตะวันออกคือ เกาหลี และ ไทย รูปลักษณ์ ช่วงเวลาที่สร้าง และฝีมือช่างล้วนผิดแผก แต่รูปเคารพทั้งสองต่างก็สื่อสะท้อนถึงผู้ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตาที่จะช่วยเหลือมวลมนุษย์ให้พ้นจากความทุกข์ ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรศิลปะเกาหลี สร้างขึ้นเมื่อพุทธศตวรรษศที่ ๑๔ ขุดพบที่วัดพงฮวังซา      เมืองคยองจู ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี  ประติมากรรมนี้ประดับตกแต่งเครื่องศิราภรณ์ที่ประดิษฐานรูปพระธยานิพุทธอมิตาภะ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรบนพระเศียร และประดับตกแต่งพระวรกายด้วยเครื่องประดับต่างๆ  พระหัตถ์ซ้ายถือหม้อน้ำอมฤต (กุณฑิกะ) พื้นผิวมีลักษณะหยาบตามเนื้อหินแกรนิตที่นำมาแกะสลัก หินแกรนิตเป็นวัสดุที่แกะสลักได้ยากเนื่องจากมีเนื้อที่ค่อนข้างหยาบ แต่ก็เป็นวัสดุที่นิยมนำมาใช้ในงานประติมากรรมทางพุทธศาสนาสมัยโบราณของเกาหลีมากที่สุด ประติมากรรมหินแกรนิตจากเกาหลีมีการแสดงรูปแบบที่เป็นนามธรรมอย่างชัดเจน ในขณะที่พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรของไทย สร้างขึ้นในภาคผู้บำเพ็ญพรต เกล้าผมสูงเหนือศีรษะ หรือที่เรียกว่า “ชฎามกุฎ” ที่มวยผมประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิ อันหมายถึงพระธยานิพุทธอมิตาภะ และห่มหนังกวางที่พระอังสา (ไหล่) ด้านซ้าย พระเนตรมองลงเบื้องล่าง ตามพระนามของพระองค์ “อวโลกิเตศวร” อันหมายความว่า “พระผู้มองลงต่ำ” คติการนับถือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในพุทศาสนาฝ่ายมหายานมีความสำคัญและแพร่หลายจากอินเดียมาสู่ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒

 

ไทยและเกาหลี, นิทรรศการที่เป็นการจัดร่วมกันระหว่างหน่วยงานทางวัฒนธรรมหลักของทั้งสองประเทศ

 

นิทรรศการครั้งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เกาหลีกับกรมศิลปากร ประเทศไทย ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ทั้งสองหน่วยงานมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาอย่างยาวนาน โดยเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๖๒ ทั้งสองหน่วยงานได้มีการลงนามความร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนทางวิชาการและวัฒนธรรม อีกทั้งยังได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี ประจำประเทศไทย ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการทำให้นิทรรศการครั้งนี้เกิดขึ้นได้ และในวาระนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดนิทรรศการครั้งนี้จะทำให้มิตรภาพของไทยและเกาหลีที่มีต่อกันมาอย่างยาวนาน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนบุคลากรและวัฒนธรรมได้เติบโตเข้มแข็งยั่งยืน อีกทั้งเจตจำนงเดียวกันของหน่วยงานหลักทางวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศนี้จะเป็นสัญลักษณ์แห่งการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศต่อไป  และหวังว่าการจัดนิทรรศการรูปแบบใหม่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในโอกาสพิเศษนี้จะช่วยให้ท่านได้สัมผัสกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของเกาหลีได้ง่ายและใกล้ชิดมากขึ้น และจะได้รับความรักอย่างยิ่งจากชาวไทยเช่นเดียวกับที่ท่านได้เทใจให้แก่วัฒนธรรมป็อบของเกาหลี เช่น ละคร ภาพยนตร์ และดนตรี มาก่อนนี้แล้ว


Location Details


Museum Thailand

LOCATION

Panya wooden house Phra Nakhon District Office, Samsen Road, Wat Sam Phraya Subdistrict, Phra Nakhon District Bangkok, 10200 Thailand

VIEW MAP