มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ครั้งที่ 19 กรุงเทพฯ Zipevent

มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ครั้งที่ 19 กรุงเทพฯ

11 Sep - 19 Oct 2017
19:30 - 21:45 (UTC+7)
Thailand Cultural Centre (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย)

Event Information


ฟินกว่าทุกปี! การบรรจบของสุดยอดศิลปินและนักดนตรีพรสวรรค์ระดับโลก ...ที่เดียวในเอเชียฟินกว่าทุกปี! การบรรจบของสุดยอดศิลปินและนักดนตรีพรสวรรค์ระดับโลก ...ที่เดียวในเอเชีย


กรุงเทพฯ - มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ครั้งที่ 19 กรุงเทพฯ กำลังจะจุดประกายให้ “กรุงเทพฯ” เปี่ยมไปด้วยสีสันและสุนทรียรสด้วย 13 ชุดการแสดงที่พิเศษยิ่งกว่าทุกๆ ปี ตั้งแต่บัลเลต์คลาสสิกจนถึงละครบรอดเวย์ เดือนกันยายน ทุกปีเป็นอันทราบกันทั่วโลกว่า กรุงเทพฯ พร้อมสำหรับการเปิดม่านงานเทศกาลทางศิลปวัฒนธรรมอันตระการตาที่สุดเท่าที่เคยจัดขึ้นในมหานครแห่งนี้  สำหรับปีที่ 19 นี้ แน่นอนว่า มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ยังคงรักษามาตรฐานความยิ่งใหญ่ให้แฟนๆ ได้ฟินกันอีกครั้ง 

นายสิทธิกุล บุญอิต รองผู้อำนวยการ มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ครั้งที่ 19 กรุงเทพฯ กล่าว “การเดินทางของเทศกาลนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2542 มีขนาดย่อมๆ ด้วยการแสดง 6 ชุด ของศิลปินเพียง 200 คน ปัจจุบัน เทศกาลนี้ได้เติบโต มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น กับระยะเวลาจัดงานนานกว่า 5 สัปดาห์ครึ่ง และการแสดงมากมายโดยมีศิลปินเข้าร่วมนับพันคน”

“ศิลปะการแสดงแนวคลาสสิก นับเป็นองค์ประกอบสำคัญของงานมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติในทุกๆ ปี ผู้ชมต่างคาดหวังที่จะได้ชมการแสดงแขนงนี้ แต่เส้นทางการจัดงานก็มิได้เป็นไปโดยง่าย เริ่มจากการนำบัลเลต์คลาสสิกและโอเปรามาเสนอ ทั้งที่ยังเป็นการแสดงที่ผู้ชมจำนวนมากไม่คุ้นเคย แต่เมื่อเวลาผ่านไป ไม่เพียงผู้คนได้เรียนรู้ที่จะชื่นชมรูปแบบของศิลปะการแสดงคลาสสิกเช่นบัลเลต์เท่านั้น แต่ยังกลายมาเป็นผู้ที่ชื่นชอบหลงใหลอย่างแท้จริงด้วย บัตรชมการแสดงก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีมากยิ่งขึ้น ในปีนี้ บัตรชมการแสดงบางรอบถูกจับจองเกือบเต็มแบบ Full-House หลังการเปิดจำหน่ายเพียง 1 สัปดาห์” นายสิทธิกุล บุญอิต กล่าว

ในปีนี้ การแสดง “บัลเลต์” คือ ความน่าสนใจอย่างแท้จริง คณะที่จะมาสร้างความอิ่มเอมใจให้ผู้ชมในครั้งนี้ เริ่มต้นด้วย “เยกาเตรินเบิร์ก โอเปรา แอนด์ บัลเลต์ เธียเตอร์” หนึ่งในคณะโอเปราและบัลเลต์ที่เก่าแก่ที่สุดของรัสเซีย แต่ยังคงไว้ซึ่งคุณภาพ โดยคณะเพิ่งได้รับรางวัล Golden Mask สาขาการแสดงบัลเลต์ยอดเยี่ยม ในงานซึ่งจัดขึ้นที่กรุงมอสโกเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 นี้เอง สำหรับงานที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้ คณะจะมาพร้อมกับบัลเลต์คลาสสิกเรื่องดัง 2 ชุด คือ บัลเลต์ความยาว 2 องก์เรื่อง Katya & The Prince of Siam (11 กันยายน) และบัลเลต์ 3 องก์เรื่อง Cinderella (13 กันยายน)

เปิดม่านมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ครั้งที่ 19 กรุงเทพฯ ด้วยโรแมนติกบัลเลต์เรื่อง “แคทยาและเจ้าฟ้าแห่งสยาม - Katya & The Prince of Siam” ซึ่งเป็นโปรดักชั่นใหม่ที่จะเปิดการแสดงครั้งแรกเป็นรอบปฐมทัศน์โลกในงานนี้ เนื้อร้องเป็นผลงานของ ยานา เทมิซ (Yana Temiz) ดนตรีโดย พาเวล ออฟเซียนนิคอฟ (Pavel Ovsyannikov)  แคทยาและเจ้าฟ้าแห่งสยาม เป็นเรื่องราวความรักของเจ้าฟ้าจักรพงษ์และแคทยา สาวงามชาวรัสเซีย เมื่อราชนิกูลหนุ่มทรงถูกพระราชบิดาซึ่งเป็นกษัตริย์แห่งสยาม ส่งเข้าศึกษาที่ Page Corps สถาบันการทหารชั้นนำของรัสเซีย เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและสยามให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น  ที่รัสเซีย เจ้าฟ้าหนุ่มรูปงามทรงได้รับเชิญเสด็จฯ เข้าร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์อยู่บ่อยครั้ง ในงานหนึ่งพระองค์ทรงพบกับ แคทยา ทั้งคู่ตกหลุมรักกัน เรื่องราวหลังจากนั้นเป็นที่ทราบกันดี นอกจากเนื้อหาที่คุ้นเคย  บัลเลต์ชุดนี้ มีการผสมผสานองค์ประกอบของนาฏศิลป์ไทยเข้าไป ด้วยฝีมือการออกแบบท่าเต้นของ วาสิลี เมดเวเดฟ (Vasily Medvedev) แห่งบอลชอยเธียเตอร์ ผู้เป็นศิลปินเกียรติยศของเอสโตเนีย กำกับวงบรรเลงดนตรีประกอบการแสดงโดย มิฮาอิล กรานอฟสกี (Mikhail Granovski) แห่งบอลชอยเธียเตอร์

ซินเดอเรลลา - Cinderella” คือหนึ่งในผลงานที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของแซร์เกย์ โปรโคเฟียฟ (Sergei Prokofiev) ใช้เวลาสร้างสรรค์ระหว่างปี 1940-1944 และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เหล่านักออกแบบท่าเต้นนับตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่เริ่มจัดแสดง บัลเลต์เต็มรูปแบบชุดนี้ออกแบบท่าเต้นโดย วลาดีมีร์ วาสิลีฟ (Vladimir Vasiliev) อดีตนักเต้นหลักของบอลชอยเธียเตอร์ นับว่าเป็นชุดที่สนุกและสร้างความประทับใจอย่างมากด้วยเครื่องแต่งกายที่งดงาม ฉากที่ตระการตา และเวทีซึ่งออกแบบโดย เวียเชสลาฟ โอคูเนฟ (Vyacheslav Okunev) นักออกแบบระดับมือรางวัลจากเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ศิลปินเกียรติยศของรัสเซีย

ศิลปินอีกคณะจากรัสเซีย ได้แก่ “บัชกีร์ สเตต โอเปรา แอนด์ บัลเลต์ เธียเตอร์” เป็นคณะที่ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ รูดอล์ฟ นูเรเยฟ (Rudolf Nureyev) เริ่มต้นอาชีพนักบัลเลต์ของเขาที่นี่และสร้างหลักการประเพณีที่เปี่ยมคุณภาพ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2560 บัชกีร์ สเตต โอเปรา แอนด์ บัลเลต์ เธียเตอร์ เพิ่งได้รับรางวัล Golden Mask สาขาตีความยอดเยี่ยมจากโอเปราเรื่อง Hercules ของแฮนเดล สำหรับมหกรรมฯ ครั้งที่ 19 นี้ คณะจะนำเสนอบัลเลต์ 3 องก์เรื่อง Spartacus (15 กันยายน) และ Le Corsaire (17 กันยายน) ทั้งสองชุดเป็นผลงานของ ยูริ กริโกโรวิช (Yuri Grigorovich) ผู้เป็นตำนาน ทั้งการออกแบบท่าเต้นและกำกับเวทีเองเป็นการส่วนตัว โดยยูริรับหน้าที่ออกแบบท่าเต้นให้คณะบอลชอยเธียเตอร์อยู่นานถึง 30 ปี มีทั้งรางวัลและเกียรติยศมากมายเป็นสิ่งรับประกันความสามารถ การแสดงบัลเลต์ทั้งสองชุดในงานมหกรรมฯ นี้ จะเป็นโปรดักชั่นที่เปี่ยมคุณภาพของกริโกโรวิชเหมือนที่เป็นเสมอ

สปาร์ตาคัส - Spartacus”  ผลงานการออกแบบของ ไซมอน วีร์ซาลาดเซ (Simon Virsaladze) นักออกแบบระดับมือรางวัล เจ้าของตำแหน่งศิลปินมหาชนแห่งสหภาพโซเวียต ผู้ได้รับรางวัลเลนินและรางวัลแห่งรัฐของสหภาพโซเวียต  สปาร์ตาคัส สร้างจากนวนิยายชื่อเดียวกันของ ราฟาเอลโล จิโอวานโยลี (Raffaello Giovagnoli) ดนตรีประกอบไพเราะและเร้าใจโดย อารัม คาชาทูเรียน (Aram Khachaturian) เป็นหนึ่งในดนตรีประกอบการแสดงบัลเลต์คลาสสิกของรัสเซียซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากที่สุด Spartacus เป็นเรื่องราวของ สปาร์ตาคัส ชาวเทรซที่ตกเป็นทาสของ คราสซุส กงสุลชาวโรมัน สปาร์ตาคัสเป็นผู้นำทาสให้ลุกขึ้นต่อต้านการปกครองของอาณาจักรโรมัน ทั้งเพื่อช่วย ฟรีเจีย ภรรยาของเขา และปลดปล่อยหญิงสาวชาวเทรซคนอื่นๆ ให้เป็นอิสระจากเงื้อมมือของกงสุลโรมัน

ลา คอร์แซร์ - Le Corsaire” บัลเลต์ที่สร้างจากบทกวีของลอร์ดไบรอน (Lord Byron) ดนตรีประกอบการแสดงประพันธ์โดย อดอล์ฟ อดัม (Adolphe Adam) เปิดแสดงครั้งแรกที่ปารีส แกรนด์ โอเปราในปี ค.ศ.1856 ส่วนชุดที่จะได้ชมในกรุงเทพฯ ครั้งนี้เป็นผลงานของยูริ กริโกโรวิช ศิลปินระดับตำนาน ซึ่งทำหน้าที่ออกแบบท่าเต้นและกำกับเวทีด้วยตัวเอง Le Corsaire เป็นเรื่องราวการผจญภัยของ คอนราด หัวหน้าโจรสลัด และ เมโดรา สาวคนรักชาวกรีก ที่คอนราดซื้อมาจากเมืองแอนเดรียโนเปิล แล้วพาเธอไปยังที่หลบซ่อนของโจรสลัดและวังของสุลต่านบนเกาะคอส เมโดราถูกลูกน้องมือขวาของคอนราดขายต่อให้สุลต่าน คอนราดจึงเข้าช่วยเหลือเธอแต่ทั้งคู่กลับถูกจับ และถูกตัดสินประหารชีวิต

ทั้งนี้ บัลเลต์ทั้งสี่ชุดนี้จัดแสดงเนื่องในวาระฉลองครบรอบ 120 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างรัสเซียและไทย โดยทำการแสดงพร้อมด้วยวงออร์เคสตราเต็มรูปแบบบรรเลงประกอบสด

ส่วนบัลเลต์ร่วมสมัย จากฝรั่งเศส “Beauty and the Beast” (2 ตุลาคม) โดย “มาลองแดน บัลเลต์ เบียร์ริตซ์” คณะนักเต้นที่สำคัญที่สุดคณะหนึ่งของฝรั่งเศส กำกับดูแลโดย เธียร์รี มาลองแดน (Thierry Malandain) ซึ่งตีความ Beauty and the Beast แตกต่างออกไปจากเทพนิยายคลาสสิก โดยเป็นความหม่นมัวของการก้าวพ้นจากวัย เรื่องราวเชิงเปรียบเทียบเน้นไปที่ภาพปิศาจภายในตัวศิลปิน ที่ถ่ายทอดผ่านทวิลักษณ์ของ Beast เธียร์รี มาลองแดนอธิบายถึงผลงานชุดนี้ว่า “Belle คือตัวตนของจิตวิญญาณมนุษย์ ส่วน Beast คือพลังและสัญชาตญาณ” Beauty and the Beast นำเสนอภาพการสูญเสียความเป็นเอกภาพของธรรมชาติทั้งสองด้านในมนุษย์ ดนตรีประกอบการแสดงเป็นผลงานการประพันธ์ของไชคอฟสกี ในตอนท้าย Beast ซึ่งหลุดพ้นจากสัญชาตญาณของปิศาจภายในร่าง ก็ได้แต่งงานกับ Belle ภายใต้แสงตะวันอันเจิดจ้า ฉากการแสดงที่สุดสร้างสรรค์เป็นผลงานของฮอร์เก กัลลาร์โด (Jorge Gallardo) ส่วนเครื่องแต่งกายอันอลังการสไตล์ยุคหลุยส์ที่ 14 ทั้งกระโปรงสุ่มกับเสื้อคลุมสีทองคือความงามที่ชวนหลงใหลอย่างแท้จริง

ความยิ่งใหญ่ของบัลเลต์ในปีนี้ ปิดท้ายด้วย “Taming of the Shrew” (18-19 ตุลาคม) โปรดักชั่นที่ถือได้ว่าเป็นงานเครื่องหมายคุณภาพของ “ชตุทท์การ์ท บัลเลต์” หนึ่งในคณะบัลเลต์ที่ดีที่สุดของวงการบัลเลต์โลก จอห์น แครงโก (John Cranko) สร้างสรรค์บัลเลต์ 2 องก์ชุดนี้โดยนำเค้าโครงมาจากผลงานคลาสสิกของเชกสเปียร์ นี่คือบัลเลต์แนวคอมเมอดีที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเรื่องหนึ่งของศตวรรษที่ 20  จอร์จ บาลองซีน (George Balanchine) ถึงกับประกาศไว้ว่า ไม่ว่าจะมาในรูปของบัลเลต์หรือละครพูด Taming of the Shrew ก็สร้างความสนุกสนานในการชมได้เหมือนๆ กัน เพทรูชิโอ ชายหนุ่มผู้เด็ดเดี่ยว หวังจะปราบพยศ แคเทอรินา หญิงสาวอารมณ์ร้ายให้เปลี่ยนเป็นภรรยาที่ว่านอนสอนง่าย เรื่องราวคลี่คลายเมื่อแคเทอรินาทลายกำแพงของตัวเองลงและตระหนักว่า เพทรูซิโอรักเธออย่างที่เธอเป็น ดนตรีประกอบท่วงทำนองสดใสร่าเริงจากฝีมือการประพันธ์ของ โดเมนิโก สการ์ลัตติ (Domenico Scarlatti) ดัดแปลงโดย เคิร์ต-ไฮนซ์ สโตลเซอ (Kurt-Heinz Stolze) ฉากและเครื่องแต่งกายที่เต็มไปด้วยสีสันโดยเอลิซาเบธ ดาลตัน (Elisabeth Dalton) ซึ่งสร้างบรรยากาศของถนนสายอบอุ่นด้วยแสงแดดของปาดัว (อิตาลี) จะทำให้บัลเลต์ปิดท้ายมหกรรมฯ ชุดนี้เป็นความบันเทิงที่เหมาะกับทุกคนในครอบครัวอย่างแท้จริง

ต่อด้วยการแสดงที่จะยืนยันว่า ปีนี้เป็นอีกหนึ่งซีซันที่น่าตื่นเต้นสำหรับผู้ชื่นชอบดนตรีตะวันตก ด้วย ซิมโฟนีคอนเสิร์ต โดย “เซี่ยงไฮ้ ฟิลฮาร์โมนิก ออร์เคสตรา” (Shanghai Philharmonic Orchestra: SPO) (24 กันยายน) และ “วงซิมโฟนีแห่งชาติของลิทัวเนีย” (Lithuanian National Symphony Orchestra: LNSO) (14 ตุลาคม)

เซี่ยงไฮ้ ฟิลฮาร์โมนิก ออร์เคสตรา เป็นหนึ่งใน 5 วงออร์เคสตราที่ยอดเยี่ยมที่สุดของสาธารณรัฐประชาชนจีน พัฒนาวงมาจากเซี่ยงไฮ้ บรอดแคสติง ซิมโฟนี ออร์เคสตรา  SPO เป็นวงออร์เคสตราที่ได้รับการยอมรับอย่างสูง โดยมีโอกาสร่วมงานกับศิลปินดนตรีผู้มีชื่อเสียง อาทิ ไอแซ็ก สเติร์น (Isaac Stern), ยิชชัก เพิร์ลแมน (Itzhak Perman), และโบริส เบอร์แมน (Boris Berman) มาแล้ว ครั้งนี้ SPO จะบรรเลงเพลงร่วมกับ ลู่ซิฉิง (Lu Siqing) นักเดี่ยวไวโอลินที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งของจีนในปัจจุบัน เป็นนักไวโอลินชาวเอเชียคนแรกที่ชนะเลิศการแข่งขันจากเวทีการแข่งขันไวโอลินที่ยากและเข้มข้นที่สุดในโลก Paganini International Violin Competition ในอิตาลีปี 1987 และยังได้ขึ้นแสดงบนเวทีอันทรงเกียรติมาแล้วทั่วทั้งทวีปอเมริกาเหนือ-ใต้ ยุโรป เอเชีย และแอฟริกาใต้ ภายใต้การควบคุมวงโดย เลี่ยง จาง (Liang Zhang) SPO จะบรรเลงบทเพลง Overture to Candide ของเลียวนาร์ด เบิร์นสไตน์, The Butterfly Lovers Violin Concerto ของ เหอจ้านห่าว (He Zhanhao) และเฉินกัง (Chen Gang) และ Symphony No. 9 in E minor (“From the New World”) ของอันโตนิน ดโวรัก

วงซิมโฟนีแห่งชาติของลิทัวเนีย ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1940 โดยนักประพันธ์ดนตรี วาทยกร และนักเปียโน นาม บาลิส ดวาริโอนาส (Balys Dvarionas) ในฐานะวงออร์เคสตราชั้นนำและมีชื่อเสียงที่สุดของประเทศ LNSO จึงมีโอกาสร่วมงานกับวาทยกรชื่อดังระดับโลกมากมาย ปัจจุบัน วงซึ่งอยู่ภายใต้การนำของ โมเดสตาส พิเทรนาส (Modestas Pitrenas) ผู้เป็นทั้งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์และวาทยกรหลัก LNSO เดินสายแสดงในหลายประเทศทั่วยุโรป ญี่ปุ่น และแอฟริกาใต้ สำหรับการแสดงในครั้งนี้ LNSO จะบรรเลงบทเพลง Hungarian Rhapsody  No 2 in C sharp minor ของฟรานซ์ ลิซต์ ตามด้วย Peer Gynt suite (compiled from two suites) ของเอ็ดวาร์ด เกร็ก และปิดท้ายด้วย Symphony No 4 in E minor, Op. 98 ของโยฮันส์ บราห์มส์

เติมเต็มความสมบูรณ์แบบให้การแสดงคลาสสิกด้วยระบำฟลาเมงโกชุด Torera (22 กันยายน) และ Carmen (23 กันยายน) โดย “อันโตเนียว อันดราเด ฟลาเมงโก คอมปานี” (Antonio Andrade Flamenco Company) จากสเปนที่นำโดย อันโตเนียว อันดราเด ผู้เป็นตำนาน จากนั้นพบกับละครเพลงบรอดเวย์เรื่อง West Side Story (5-8 ตุลาคม) จากสหรัฐอเมริกา 

อันโตเนียว อันดราเด ฟลาเมงโก คอมปานี เป็นคณะนักเต้นที่มาจากดินแดนศูนย์กลางของศิลปะการเต้นฟลาเมงโกในแคว้นอันดาลูเซีย นำโดยนักออกแบบท่าเต้น อันโตเนียว อันดราเด คณะมีชื่อเสียงในด้านรูปแบบของการแสดงที่เป็นศิลปะการเต้นฟลาเมงโกอย่างแท้จริง ได้รับการยกย่องในเรื่องของอัตลักษณ์และรากเหง้าของฟลาเมงโก ทั้งยังได้รับการชื่นชมในความพยายามที่จะนำผสมผสานดนตรีทั้งที่เป็นเทรนด์ใหม่และที่มีอิทธิพลอยู่แต่เดิมอย่างแจซ อารบิก และละตินอเมริกัน มาผสมผสานเข้ากับการแสดงฟลาเมงโก 

“โทเรร่า - Torera” ผลงานใหม่เพิ่งเปิดตัวในปีนี้ ณ เทศกาลฟลาเมงโก Malaga Biennial Flamenco Festival ของสเปน และการแสดงในมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ครั้งที่ 19 กรุงเทพฯ  เป็นรอบปฐมทัศน์โลกของการแสดงชุดนี้  Torera นำเสนอเรื่องราวความขัดแย้งของสองขั้วในธรรมชาติมนุษย์ ความตึงเครียดอย่างที่สุดจะเกิดขึ้นเมื่อบุคลิกที่แท้จริงของมนุษย์ต้องเผชิญหน้ากับบุคลิกปลอมๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นซึ่งขัดแย้งกับภาพสะท้อนของตัวเอง นักเต้นจะรับบทที่แสดงออกถึงความวุ่นวายภายในใจของผู้หญิง ผ่านทางสัญลักษณ์การลงโทษทัณฑ์ของอารยธรรมโบราณ โดยผู้รับบท คือ อูร์สุลา โมเรโน (Ursula Moreno) เธอเคลื่อนไหวเป็นเอกภาพได้อย่างสมบูรณ์แบบร่วมกับ กระทิง มรดกของแอนดาลูเซียซึ่งเป็นที่นับถืออย่างสูงสุด เพราะจังหวะการเต้นของหัวใจของสัตว์ชนิดนี้ คือ จังหวะที่ปลุกเร้าชาวอันดาลูเซียทั้งผอง นับว่าเป็นการแสดงที่ท้าทายความสามารถของนักแสดงมากกว่าทุกชุดที่ผ่านมา

“คาร์เมน- Carmen” จะนำผู้ชมไปสู่ดินแดนศูนย์กลางของศิลปะการเต้นฟลาเมงโกอีกครั้ง กับเรื่องราวของหญิงสาวผู้ยอมตายดีกว่าที่จะมีชีวิตอยู่อย่างขาดอิสรภาพ หรือถูกตราหน้าว่า เป็นคนโกหก อันโตเนียว อันดราเด ได้ปรับธีมอันคลาสสิกของ Carmen ให้เป็นการแสดงด้วยจิตวิญญาณใหม่ของ ฟลาเมงโก โดยเขาอธิบายว่า “Carmen Flamenca ของผม ได้ขจัดรูปแบบของอุปรากรออกไปจนหมด แล้วใส่รากเหง้าของฟลาเมงโกเข้าไปในส่วนของดนตรีและการเต้น” คณะอันโตเนียว อันดราเด ฟลาเมงโก คอมปานี ได้นำเสนอ Carmen ในเวอร์ชั่นของพวกเขา บนเวทีของโรงมหรสพอันทรงเกียรติทั่วโลก นับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกในปี ค.ศ.1998 ที่ Deutsche Oper Berlin (เยอรมนี)

ละครบรอดเวย์ การแสดงที่ได้รับความนิยมตลอดกาล ละครเพลงชุด “West Side Story” จากสหรัฐอเมริกา จะครองใจผู้ชมด้วยภาพการดีดนิ้วและกระโปรงที่ปลิวไสว ดนตรีประกอบที่อยู่ในความทรงจำผลงานของเลียวนาร์ด เบิร์นสไตน์ (Leonard Bernstein) ประกอบด้วยบทเพลงที่โด่งดังอย่าง Maria, Tonight, Somewhere, America และ I Feel Pretty จะสร้างความมหัศจรรย์ที่ตรึงใจผู้คนมาแล้วนับล้านทั่วโลกให้เกิดขึ้นอีกครั้ง ความสามารถของสี่สุดยอดอัจฉริยะของวงการ เลียวนาร์ด เบิร์นสไตน์, เจอโรม ร็อบบินส์ (Jerome Robbins, อาเธอร์ ลอเรนท์ส (Arthur Laurents) และสตีเฟน ซอนด์ไฮม์ (Stephen Sondheim) ได้ถูกกลั่นกรองออกมาในโปรดักชั่นดั้งเดิมที่จะนำเสนอที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้ และการแสดงชุดนี้ยังเป็นโปรดักชั่นเดียวในโลก ที่ได้รับอนุญาตให้นำเสนอท่าเต้นฉบับดั้งเดิมของเจอโรม ร็อบบินส์ West Side Story ฉบับที่ได้รับรางวัลของโจอี แม็กนีลี (Joey McKneely) และครองอันดับหนึ่งของละครเวทีที่ไม่มีการแสดงชุดใดอาจหาญเทียบได้นี้ กำลังอยู่ระหว่างการทัวร์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งที่โอ๊กแลนด์ บราทิสลาวา เฮก ดูไบ ดับลิน ฮ่องกง อิสตันบูล มะนิลา มัสกัต ปารีส ปราก สิงคโปร์ เวียนนา โตเกียว และเยอรมนี และเปิดการแสดงในกรุงเทพฯ มากถึง 6 รอบในเวลา 4 วัน (5-8 ตุลาคม)

สิ่งที่จะยิ่งตอกย้ำว่า มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 19 นำเสนอการแสดงที่มีรูปแบบซึ่งเหมาะกับทุกคนในครอบครัวอย่างแท้จริง ก็คือ WOW! World of Wonder (28-29 กันยายน) การแสดงจาก ปีเตอร์ มาร์วีย์ (Peter Marvey) นักมายากลชื่อดัง และการแสดงของเหล่านักร้อง นักเต้น และนักกายกรรมระดับรางวัลของคณะ Flying Superkids (19-20 กันยายน) จากเดนมาร์ก 

“Flying Superkids” ซึ่งนำโดย สเวนด์ ก็อดเบอร์เซน (Svend Godbersen) ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์และออกแบบท่าเต้น ได้นำนักร้อง นักเต้น นักยิมนาสติก และนักกายกรรม ความสามารถระดับรางวัล มาร่วมผสมผสานพรสวรรค์ให้กับสุดยอดการแสดงที่น่าตื่นเต้น หลังจากที่อูเว ก็อดเบอร์เซน (Uwe Godbersen) ก่อตั้งคณะขึ้นในปี ค.ศ.1967 Flying Superkids ได้เดินทางไปสร้างความตื่นตาตื่นใจด้วยการแสดงสุดเร้าใจให้ผู้ชมมาแล้วทั่วโลก ในครั้งนี้ พวกเขาจะนำเสนอการแสดงที่เปี่ยมไปด้วยพลังและต้องใช้ความสามารถขั้นสูงของนักแสดง ดังเช่นที่เคยแสดงในทุกๆ ครั้ง

แต่งเติมความมหัศจรรย์ให้เทศกาลนี้ด้วยโชว์ชุดใหม่ล่าสุดจาก ปีเตอร์ มาร์วีย์ นักมายากลผู้มีชื่อเสียง ทุกวันนี้ ชื่อชั้นของปีเตอร์ มาร์วีย์ นับว่ามีความยิ่งใหญ่เทียบเท่านักมายากลระดับตำนานอย่าง เดวิด คอปเปอร์ฟิลด์ และซิกฟรีด แอนด์ รอยไปแล้ว นอกจากนี้ มาร์วีย์ยังเป็นนักมายากลที่ใช้แต่ผลงานที่เขาคิดค้นขึ้นเพื่อใช้ในการแสดงของตนเองเท่านั้น อีกทั้งยังไม่เคยนำกลนั้นกลับมาใช้แสดงใหม่ด้วย ฉะนั้น เตรียมสัมผัสความตื่นเต้น ประหลาดใจไปกับการสร้างภาพลวงตาขนาดใหญ่ ได้ตั้งแต่วันนี้ และเพื่อตอกย้ำให้เห็นถึงความสามารถในศิลปะการแสดงมายากลของปีเตอร์ มาร์วีย์ ผู้ชนะเลิศรางวัลเมอร์ลินจากสมาคมนักมายากลนานาชาติถึงสองครั้ง รวมทั้งยังได้รับรางวัล “Golden Magic Wand” จากพระหัตถ์ของเจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งโมนาโก ในสาขาการแสดงมายากลยอดเยี่ยมจากงาน Grand Prix of Monaco 1996 อีกด้วย ปีเตอร์ มาร์วีย์ เปิดแสดงมายากลของเขามาแล้วในกว่า 30 ประเทศใน 5 ทวีปทั่วโลก รวมทั้งที่ซีซาร์ พาเลสในลาสเวกัส ไซทามะ ซูเปอร์ อารีนาในโตเกียว และที่เธียเตอร์ พรินเซส เกรซในโมนาโก และจะเปิดการแสดงที่กรุงเทพฯ เพียง 2 รอบเท่านั้น  

มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ครั้งที่ 19 กรุงเทพฯ ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้หากขาดการสนับสนุนจาก สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ธนาคารกรุงเทพ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ บีเอ็มดับเบิลยู ไทยแลนด์ กลุ่มบริษัทบี.กริม  โรงแรมดุสิตธานี อินโดรามา เวนเจอร์ส กระทรวงวัฒนธรรม เนชั่นกรุ๊ป บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด การบินไทย บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 

เช่นเดียวกับทุกครั้งที่ผ่านมา ทางผู้จัดมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ยังคงตั้งใจคัดสรรการแสดงมาอย่างดี ด้วยคุณภาพที่เหมือนบินไปชม เพื่อให้มีอย่างน้อยสักชุดที่ต้องกับรสนิยมของแต่ละคน ฉะนั้น กาตัวโตๆ ไว้บนปฏิทินเพื่อเตือนตัวเองตั้งแต่วันนี้ และไม่ลืมว่า บัตรชมการแสดงบางชุดได้ถูกจับจองเกือบหมดแล้ว   

บัตรชมการแสดงมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ครั้งที่ 19 กรุงเทพฯ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 กันยายน ถึง 19 ตุลาคม 2560 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ มีจำหน่ายที่ Thai Ticket Major (www.thaiticketmajor.com) สายด่วนโทร. 0 2262 3191 หรือที่เคาน์เตอร์ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ทุกสาขา สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมที่: www.bangkokfestivals.com


Location Details


Thailand Cultural Centre (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย)

LOCATION

เลขที่ 14 ถนนเทียมร่วมมิตร แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง Bangkok, 10310 Thailand

VIEW MAP