THAILAND AEROSPACE YOUTH FORUM
ครั้งที่ 2
จัดโดย
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : สทอภ. ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อการพัฒนาประเทศได้เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างจินตนาการและทักษะที่จำเป็นให้กับเยาวชนรุ่นใหม่เพื่อรองรับการรังสรรค์นวัตกรรมจากอวกาศสำหรับการพัฒนาประเทศในอนาคต จึงร่วมกับพันธมิตรกำหนดจัดการประชุม THAILAND AEROSPACE YOUTH FORUM ครั้งที่ 2 ในวันที่ 14 กันยายน 2561 ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ จ.ชลบุรี เพื่อเป็นหนึ่งในกลไกเสริมสร้างทักษะความสามารถของคนไทยให้มีความพร้อมต่อการใช้เทคโนโลยีอวกาศให้เกิดประโยชน์สูงสุด
Thailand Aerospace Youth Forum (TAYF) เป็นเวทีสำหรับเยาวชนรุ่นใหม่ในการแลกเปลี่ยนความรู้และแนวคิด รวมถึงนำเสนอผลงานจากการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ในทศวรรษที่ 21 ผสมผสานกระบวนการการเรียนรู้แบบ STEM ด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย มุ่งเน้นการคิดอย่างสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรม ภายใต้แนวคิด "เปิดโลกอากาศยาน เปิดม่านแรงบันดาลใจ"
เยาวชนที่เข้าร่วมการประชุมฯ ในครั้งนี้ นอกจากจะได้ประสบการณ์แห่งการเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ภายใต้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญ ยังจะได้รับแรงบันดาลใจจากการเล่นหรือการทดลอง ที่จะแปรเปลี่ยนสู่การทักษะแห่งการพัฒนาเทคโนโลยี ต่อยอดสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมสู่เชิงพานิชย์ กลายเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ต่อการประเทศชาติต่อไปในอนาคต
THAILAND AEROSPACE YOUTH FORUM ครั้งที่ 2 ประกอบด้วยกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อให้ครอบคลุมความสามารถของเยาวชนจากทุกระดับและกลุ่มความสนใจ ดังต่อไปนี้
กิจกรรม Inspired Talk
เป็นการพูดเพื่อจุดประกายความคิดให้เยาวชนเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย และสร้างแรงบัลดาลใจให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการพัฒนาดังกล่าว ผ่านการเรียนรู้และจิตนาการที่ไร้ขอบเขตของโลกปัจจุบัน ซึ่งนำเสนอโดยบุคคลที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในกลุ่มเยาวชน ประกอบด้วย
- นายพร้อม เสือทิม ตัวแทนนักวิจัยเยาวชนที่ส่งการทดลองไปผลิตอาหารบนอวกาศ
- นายหม่อง ทองดี แชมป์ร่อนเครื่องบินกระดาษและยุวทูตประจำกระทรวงวิทยาศาสตร์
- นายณัชธกฤษณ์ สาระไชย เยาวชนผู้บันทึกความทรงจำทางอากาศ ภารกิจ 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง
- นายกรทอง วิริยะเศวตกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง CO เว็บไซต์ด้านอวกาศโดยกลุ่มเยาวชนไทย ที่ได้รับรางวัล Best New Blog จากงาน Thailand Best Blog Awards 2017
กิจกรรม STEM DRONE PROJECT
STEM Drone Project หรือ การประกวดโครงงานศึกษาและเรียนรู้สิ่งแวดล้อมด้วยโดรน โดยนักเรียนระดับมัธยมศึกษาจากทั่วประเทศ เป็นการนำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการเกี่ยวกับผลการศึกษาปัญหาสิ่งแวดล้อมและแนวทางแก้ไขที่ประยุกต์ใช้โดรนเป็นเครื่องมือหลักในการเก็บข้อมูล และนำมาวิเคราะห์ตามหลักของการคิดวิเคราะห์เชิงพื้นที่ ภายใต้การให้คำปรึกษาจากศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
โครงงานที่ได้จากกิจกรรมนี้จะมีการถ่ายทอดสู่โรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นต้นแบบของการส่งเสริมการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเรียนการสอนแบบ STEM ที่เกิดประโยชน์ทั้งทางด้านวิศวกรรมอากาศยาน และการคิดวิเคราะห์เชิงภูมิสารสนเทศ
ชิงโล่รางวัลเกียรติยศและทุนการศึกษา มูลค่ารวม 150,000 บาท
กิจกรรม YOUTH PRESENTER
เป็นการประกวดการนำเสนอแนวคิดทางด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศระดับเยาวชน เป็นเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนแนวคิดและจิตนาการด้วยการนำเสนอตามหัวข้อที่กำหนด ซึ่งปีนี้เป็นการประกวดแนวคิดในหัวข้อ "นวัตกรรมใหม่จากอวกาศสู่ชีวิตประจำวัน"
กิจกรรม APRSAF-Thailand Youth Poster (ประกวดวาดภาพจากแรงบันดาลใจ)
กิจกรรมประกวดภาพวาดสร้างแรงบันดาลใจ ระดับเยาวชน อายุ 8-11 ปีจากทั่วประเทศ เพื่อเป็นเวทีสำหรับการคัดเลือกภาพวาดตัวแทนประเทศไทยส่งเข้าสู่การประกวดภาพวาดระดับนานาชาติ หรือ APRSAF Poster contest ระหว่างการประชุม APRSAF ครั้งที่ 25 ณ ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 6-9 พฤศจิกายน 2561
กิจกรรม The master debate on stage
เป็นการโต้วาที ระหว่างผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการพัฒนาด้านอากาศยานและเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทยจากหลากหลายสาขาอาชีพ อาทิเช่น นักบิน วิศวกร นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ รวมถึงภาคเอกชน ที่จะมาบอกเล่าถึงประสบการณ์ ผลงานที่ภาคภูมิใจ รวมถึงบอกเล่าถึงแรงบันดาลใจของในแต่ละท่านในสายอาชีพตนเอง
กิจกรรม ก่อร่างสร้างโดรน
เป็นการสร้างอากาศยานไร้คนขับแบบปีกตรึง (Fixed-Wing) ด้วยโฟม
กิจกรรม Space Maker Workshop
เป็นการทดลองออกแบบและสร้างจรวดที่สามารถเคลื่อนที่จากฐานปล่อยไปยังเป้าหมายที่กำหนดไว้
กิจกรรม Aircraft Design Workshop
เป็นการออกแบบและทำให้แผ่นวัสดุที่เตรียมให้ ให้สามารถบินได้ เพื่อเรียนรู้ทักษะเบื้องต้นในการออกแบบอากาศยาน
กิจกรรม Drone Coding Workshop
เป็นการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อส่งเสริมการศึกษาในรูปแบบ STEM ในระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ผ่านด้วยการเขียนโปรแกรมอย่างง่าย ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้มีการประยุกต์ใช้และพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนากระบวนความคิดของเยาวชนไทย
กิจกรรม Drone Mapping Workshop
เป็นการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อส่งเสริมการศึกษาในรูปแบบ STEM ในระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ผ่านการสร้างแผนที่จากโดรน ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้มีการประยุกต์ใช้และพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนากระบวนความคิดของเยาวชนไทย
กิจกรรม Drone Traffic Workshop
เป็นการเยี่ยมชมศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาเชิงกลยุทธและปฏิบัติการด้านการบินและอวกาศ หรือ Strategic and Operation Aerospace Research: SOAR โดยมีภารกิจหลักในการวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินและอวกาศในประเทศไทย ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรม (innovation) และความเป็นเลิศทางเทคโนโลยี (state-of-the-art) เพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้จริงทั้งในภาคนโยบาย, ภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาชนแบบครบวงจร
กิจกรรม การผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน
เป็นการเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการความเป็นเลิศและนวัตกรรมการบินและอวกาศ หรือ GISTDA’s Aerospace Laboratory of eXellence and Innovation: GALAXI ซึ่งมีภารกิจสำคัญในการเชื่อมโยงให้เกิดอุตสาหกรรมการบินและอวกาศสำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะด้านการทดสอบมาตรฐาน โดยห้องปฏิบัติการฯ ได้ผ่านการตรวจรับรองแล้วเสร็จ ซึ่งนับเป็นหน่วยงานของรัฐแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับมาตรฐานด้าน Aerospace AS9100D และอยู่ระหว่างการขอรับมาตรฐาน ISO/IEC17025