“DONUT FEAR: DO NOT FEAR” นิทรรศการเดี่ยวโดยศิลปิน แจยง คิม และภัณฑารักษ์ ยอนนี ปาร์ค จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม – 12 กันยายน 2564 ที่ ถัง คอนเทมโพรารี่ อาร์ต กรุงเทพฯ
จุ่มโดนัทเซรามิกที่อบอย่างดีลงในครีมเคลือบประกายมุกมันเงา จากนั้นประดับด้วยคริสตัลสวารอฟสกี้เพื่อเพิ่มมิติ นี่คือเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ แจยง คิม ไม่ต้องห่วงเลยว่าคุณไม่เจอโดนัทแบบที่ชอบ บนผนังมีโดนัทหลากหลายรูปทรง ลวดลาย สีสัน และคริสตัล ซึ่งแต่ละชิ้นแสดงถึงเอกลักษณ์ที่โดดเด่น กำลังรอคุณอยู่
จุดเริ่มต้นของ แจยง คิม
คิมเริ่มสร้างผลงานศิลปะโดนัทขึ้นในปี พ.ศ. 2555 เนื่องจากเขาต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพในนิวยอร์กช่วงปี 2551 จึงต้องมองสิ่งอื่นนอกเหนือจากแหล่งรายได้จากการทำงานศิลปะ ซึ่งนั่นก็คือการเปิดร้านขายโดนัท แต่ก็ต้องปิดตัวลงเพราะสถานการณ์วิกฤตการเงินโลก และยังตามมาด้วยช่วงเวลาที่ยากลำบากมากขึ้น แต่คิมก็ตัดสินใจสร้างงานศิลปะโดนัทในช่วงเวลาที่ท้าทายที่สุดที่เขาเคยประสบมาในฐานะศิลปิน เริ่มมาจากความมุ่งมั่นที่จะ “ไม่ไล่ตามเงิน แต่ทำในสิ่งที่ชอบทำ” โดนัทเหล่านี้เป็นตัวแทนของความใฝ่ฝันหรือปรารถนาของแต่ละคน เขาถามตัวเองว่า “มีกฎตั้งไว้ว่าโดนัทมีไว้เพื่อกินเท่านั้นหรือ?” “ทำไมไม่แขวน [โดนัท] ไว้บนผนังเหมือนถ้วยรางวัลแทน แต่ใครจะทำอย่างนั้นกันล่ะ?” เมื่อตระหนักถึงแนวคิดนี้ คิมได้บรรลุเป้าหมายของการแสดงให้เห็นถึงการไล่ตามความฝันอย่างไม่ลดละ โดยการแขวนงานศิลปะของเขาบนผนัง
เมื่อมองโดนัทที่อัดแน่นอยู่เต็มผนัง เหมือนกับกำลังแสดงความเป็นจริงภายในของคนสมัยใหม่ ที่ทุกคนประกอบด้วยโดนัทหลาย ๆ แบบ ผู้ชมได้รับการชวนเชิญให้ค้นหาโดนัทที่ชอบมากที่สุด โดยคนหนึ่งอาจพบความรัก อีกคนหนึ่งอาจพบความสุข แล้วแต่ที่ใจต้องการ จากการมองโดนัทมากมายบนผนัง
ผลงานของแจยง คิม
ผลงานของคิมเปี่ยมไปด้วยความสุข ความสนุกคือสิ่งสำคัญที่สุดในงานของเขา และมีลักษณะเด่นอีกอย่างคือเหมือนกับการ์ตูน ซึ่งมีที่มาจากเมื่อครั้งที่เขาเห็นเด็กนั่งวาดรูปงานศิลปะของเขาแล้วรู้สึกมีความสุข ผลงานของเขาทำให้นึกถึงทั้งศิลปะป๊อปอาร์ตที่เน้นพลังของภาพ และภาพวาดแบบ Vanitas ซึ่งเป็นที่นิยมในยุคบาโรก ในศตวรรษที่ 17 ของเนเธอร์แลนด์และแฟลนเดอร์ส Vanitas หมายถึง “ความว่างเปล่า” ในภาษาละติน และเป็นประเภทหนึ่งของงานศิลปะภาพนิ่ง (still-life) ที่มีการวาดรูปสิ่งของราคาแพงเพื่อเตือนผู้ชมถึงความไร้ประโยชน์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสิ่งของเหล่านั้นถูกวาดราวกับมีอยู่จริง ความรู้สึกที่ขัดแย้งกันของ “ความไร้สาระ” ก็มีอยู่ในนั้น ผลงานของคิมแขวนความปรารถนาของผู้คนและความคาดหวังไว้บนผนัง ด้วยงานสไตล์การ์ตูนที่มีโทนสีหลากหลาย ซึ่งเป็นศิลปะป๊อปอาร์ตมาบรรจบกับศิลปะแบบ Vanitas
นิทรรศการ DONUT FEAR
หากคุณสงสัยว่าทำไมคิมถึงสร้างงานศิลปะโดนัทจำนวนมากมาย ทั้งหมดนี้มาจากชื่อนิทรรศการ DONUT FEAR ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับการออกเสียงกับคำว่า DO NOT FEAR ซึ่งเป็นทัศนคติโดยตรงต่องานศิลปะของคิม
คิมมีอาการตาบอดสี (สีแดงและเขียว) เมื่อก่อนเขามักจะเลือกใช้เฉพาะสีเข้ม หลีกเลี่ยงสีที่ฉูดฉาด และเนื่องจากอาการตาบอดสีของเขาแย่ลง เขาจึงตัดสินใจไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา เพราะเป็นการยากที่จะเข้าวิทยาลัยศิลปะในเกาหลี อาจารย์ผู้สอนศิลปะของเขาสนับสนุนให้เขาทดลองใช้สีต่างๆ แต่ความกลัวของเขาก็ยังคงอยู่
หลังจากนั้นคิมเริ่มใช้สีสันสดใสเพื่อเอาชนะความกลัว เขาบอกว่าในที่สุดเขาก็รู้สึกสบายใจกับสีสันหลังจากได้ทำงานศิลปะโดนัทไปแล้ว 300 ถึง 400 ชิ้น ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เขาสามารถจัดการกับปัญหาส่วนตัวเกี่ยวกับงานศิลปะ และปัญหาทางด้านเชื้อชาติที่เขาได้พบจากการย้ายถิ่นฐานที่อยู่อาศัย
คิมมองงานศิลปะโดนัทของเขาเหมือนกับบันทึกเหตุการณ์ในแต่ละหน้า “เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในชีวิต เราควรเตรียมร่างกาย จิตใจ และงานของตนให้พร้อม องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในกระบวนการนี้คือการสนุกไปกับงาน ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น และการสื่อสาร”
สำหรับคิม งานของเขารวมความพยายามและแรงบันดาลใจที่จะเอาชนะความกลัว ก้าวไปข้างหน้าด้วยรอยยิ้มและความรัก และเพื่อเฉลิมฉลองนิทรรศการเดี่ยวของเขาที่ประเทศไทย เขาวางแผนที่จะเปิดตัวโดนัทสีเหลืองชุดใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากดอกลีลาวดี ดอกไม้ที่เหมือนเป็นเอกลักษณ์ของประเทศเขตร้อน สีสันสดใส และต้นราชพฤกษ์ ที่เป็นต้นไม้ประจำชาติของไทย นอกจากนี้เขายังได้รวมความกระตือรือร้นและสภาพอากาศร้อนของประเทศไทยไว้ด้วยกันในผลงานใหม่สองชิ้นที่ชื่อว่า Devil Donut is Hot!! และ Bubble Donut is Hot! ซึ่งเป็นลวดลายของเปลวไฟบนพื้นผิวสแตนเลส นิทรรศการศิลปะของคิมครั้งนี้ มุ่งที่จะนำผู้ชมไปพบประสบการณ์ความปรารถนาของชีวิตร่วมสมัย และความมุ่งมั่นของเขาในฐานะศิลปินที่จะพัฒนาผลงานอย่างต่อเนื่อง
เกี่ยวกับศิลปินแจยง คิม
เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2516 ที่ประเทศเกาหลีใต้ หลังจากนั้นได้ย้ายกับครอบครัวไปอยู่ที่ประเทศคูเวต และซาอุดิอาระเบียเมื่ออายุได้ 3 ขวบ แม้จะได้กลับไปใช้ชีวิตที่กรุงโซลในช่วงวัยรุ่น แต่ประสบการณ์ในต่างประเทศของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้เขาไปศึกษาที่ต่อต่างประเทศ จนได้รับปริญญาศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต (สาขาเซรามิกและประติมากรรม) ที่ Hartford Art School และ University of Hartford และศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขาเซรามิกที่ Cranbrook Academy of Art ในมิชิแกน ผลงานช่วงแรกๆ เป็นการนำเสนอหัวข้อต่างๆ เช่น หอยทาก และสุนัขของเขาที่ชื่อ Momo ซึ่งเป็นตัวแทนของการค้นหา “บ้าน” จากภูมิหลังที่ต้องย้ายที่อยู่อาศัยบ่อยๆ
คิมค้นพบโดนัทที่เป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของเขาในปัจจุบันนี้เมื่อตอนที่เขาพยายามดิ้นรนเพื่อปรับตัวให้เข้ากับชีวิตในมหานครนิวยอร์กในปี พ.ศ. 2551 ขนมหวาน “ถูกและอร่อย” ที่สร้างความสุขง่าย ๆ และที่ยังทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ของการบริโภค ความโลภ ความสุข และการเสพติด เติมพลังให้กับวัฒนธรรมป๊อปสมัยใหม่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกา งานเซรามิกขี้เล่นที่ทำด้วยมืออย่างมีเอกลักษณ์และเคลือบเงาเป็นเวลาหลายวันนี้ สะท้อนและท้าทายความสัมพันธ์ของการผลิตจำนวนมาก สิ่งล่อใจ และความพึงพอใจทันที เขาได้จัดแสดงผลงานเดี่ยวและกลุ่มมากมายในแกลเลอรี่หลายประเทศ รวมทั้ง Blank Space Gallery, Anthony Brunelli Fine Arts and Waterfall Gallery & Mansion ในนิวยอร์ก ตลอดจน Hakgojae Gallery และ Gallery Yeh ที่กรุงโซล ผลงานของเขาอยู่ในคอลเล็กชั่นส่วนตัวและสาธารณะมากมาย เช่น Fidelity Investments Corporate Art Collection, Royal Caribbean Cruises, University of Bridgeport และ University of Hartford ท่ามกลางรางวัลอื่นๆ เขายังได้รับรางวัล Jurors Choice Award in the Craft Forms ‘99 competition ที่จัดโดย Wayne Art Center ในเพนซิลเวเนีย และรางวัล Estelle Hartman Sculpture Award จาก University of Hartford ในปี พ.ศ. 2541 ปัจจุบันศิลปินอาศัยและทำงานทั้งในกรุงโซล และนิวยอร์ก
เกี่ยวกับ Tang Contemporary Art
Tang Contemporary Art ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2540 ที่กรุงเทพมหานครฯ และต่อมาได้ก่อตั้งสาขาเพิ่มที่กรุงปักกิ่ง และฮ่องกง ถัง คอนเทมโพรารี่ อาร์ต มุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการผลิตโครงการและนิทรรศการที่สำคัญ เพื่อส่งเสริมศิลปะจีนร่วมสมัยในระดับภูมิภาคและทั่วโลกและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างศิลปินจีนกับต่างประเทศ ทำหน้าที่เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศจีน
Tang Contemporary Art มุ่งมั่นที่จะเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างศิลปิน ภัณฑารักษ์ นักสะสม และสถาบันทั้งในและต่างประเทศ นิทรรศการที่แปลกใหม่ทำให้ ถัง คอนเทมโพรารี่ อาร์ต ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และสร้างสถานะเป็นผู้บุกเบิกศิลปะร่วมสมัยในเอเชีย
ระยะเวลา: 7 สิงหาคม – 12 กันยายน 2564
สถานที่: Tang Contemporary Art กรุงเทพฯ
วันเปิดนิทรรศการ: วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม 2564 (เวลา 16.00 น.)
ที่อยู่: ห้องเลขที่ 201 – 206 ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ แบงค็อก
เวลาทำการ: 11.00 – 19.00 น. (วันอังคารถึงวันอาทิตย์)
อีเมล: bkk@tanggallery.vip
โทรศัพท์: +662 000 1541
ขอขอบคุณที่มาของข้อมูลและรูปภาพจาก เว็บไซต์ Tang Contemporary Art และ เพจ Look At Art
ฝากติดตามข่าวสารงานอีเว้นท์กับ Zipevent ในช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ตามนี้เลย
- Line: @Zipevent (อย่าลืมเติม @ ข้างหน้าด้วยนะคะ) หรือจิ้มไปที่ลิงก์นี้ได้เลย @Zipevent
- Instagram: @Zipevent
- Website: www.zipeventapp.com
- Twitter: @Zipevent
- Facebook: @Zipevent