ในบรรดางานอีเว้นท์แนวดนตรีทั้งหมด งานนี้ถือได้ว่าเป็นงานส่งท้ายปี ที่ประทับใจทางทีม Zipevent มากๆ เป็นงานที่สอดแทรกและนำเสนอสิ่งที่มีความเป็นไทยๆ ของแต่ละภูมิภาค ในรูปแบบของแสง สี เสียง ที่สนุกเร้าใจ และเชื่อว่า ทุกคนที่ได้ไปงาน Walk Festival Bangkok 2019 ก็ต่างประทับใจ และอยากจะทราบว่า ต้นฉบับดั้งเดิมของงานแสดงเหล่านั้น เป็นมาอย่างไร ซึ่งวันนี้ Zipevent รวบรวมมาให้แล้ว
JORRA (ร่มบ่อสร้าง Stage)
“เทศกาลร่มบ่อสร้าง” แรกเริ่มเดิมที เทศกาลร่มบ่อสร้าง หรืองานร่มบ้านบ่อสร้างนั้น ในอดีตหมู่บ้านบ่อสร้าง อ.สันกำแพง เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ท่ามกลางธรรมชาติแบบชนบท ประชาชนส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ทำนาทำสวน ยามว่างเว้นจากการทำการเกษตรมักจะผลิตร่มออกจำหน่าย ซึ่งเป็นร่มกระดาษสา ต่อมาก็มีการเติม แต่งลวดลายกลายเป็นร่มที่สวยงาม น่าซื้อไว้ใช้และเป็นของฝากที่ระลึก
เมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ท่านอินศวร ไชยซาววงศ์ ลูกพ่อขุนเปา ซึ่งมีอาชีพเป็นพ่อค้า และเป็นคนพื้นที่ ได้เล็งเห็นว่าหมู่บ้านบ่อสร้าง เป็นหมู่บ้านที่ประชาชนมีฝีมือ สามารถผลิตร่มออกขายได้เงินได้ทองกันจำนวนมาก จึงชักชวนกับชาวบ้าน และผู้นำท้องถิ่นในสมัยนั้น ริเริ่มจัดงานขึ้นครั้งแรก ปีแรก มีผู้คนหลั่งไหลกันเข้ามาเที่ยวชมงานกันอย่างล้นหลามด้วย กิจกรรมนานาชนิด และการละเล่นพื้นบ้าน ต่อมามนต์ขลังของงานร่มบ่อสร้าง ได้จางหายไปแต่ก็ยังคงจัดกันขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ประสบความสำเร็จบ้างไม่ประสบความสำเร็จบ้างแต่ทำกันมาตลอด โดยจะจัดขึ้นประมาณ เดือนมกราคม ของทุกปี ที่บริเวณศูนย์หัตถกรรมร่มบ่อสร้าง มีการแสดง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำจากกระดาษสา โดยเฉพาะร่มบ่อสร้าง รวมทั้งการแสดงทางวัฒนธรรม ขบวนแห่ ประเพณีพื้นบ้าน และการประกวดต่างๆ ที่น่าสนใจ
ในงาน Walk Festival Bangkok 2019 ก็ได้ยกเอาร่มบ่อสร้างมาทำเป็นเวทีที่ส่งต่อความมันส์แบบสุดๆ บริเวณด้านหน้าของ GMM Live House Hall และในฮอลล์ ส่วนของบนเวที ก็มีการแสดงบนเวทีที่สนุกเร้าใจ ทันสมัย แสง สี เสียง ครบ และมีการนำร่มดังกล่าวมาประกอบการแสดง
ELECTROBACILLUS (ผีตาโขน Glow in the Dark)
ประเพณีผีตาโขน เป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่โบราณ จะมีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏ แต่สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่มีประเพณี “บุญหลวง” เป็นบุญพระเวสสันดรและบุญบั้งไฟรวมกันนับเป็นเวลานานหลายร้อยปี หรืออาจจะมีตั้งแต่เมื่อครั้งพระพุทธศาสนาเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย
การละเล่นผีตาโขน “ผีตาโขน” เป็นคำที่เรียกชื่อ การละเล่นชนิดหนึ่ง ที่ผู้เล่นต้องสวมหน้ากากที่วาดหรือแต้มให้น่ากลัว โดยชุดแต่งผีตาโขนจะใช้ผ้าเก่า ผ้ามุ้ง หรือใช้เศษผ้านำมาห่อหุ้มร่างกายให้มิดชิด ซึ่งจะร่วมเข้าขบวนแห่และแสดงท่าทางต่างๆ ระหว่างที่มีประเพณีบุญหลวง เป็นการละเล่นที่มีเฉพาะในท้องที่อำเภอด่านซ้ายเท่านั้น
ในการเล่น “ผีตาโขน” ของชาวอำเภอด่านซ้ายมีความเชื่อว่า ประการแรก เล่นเพื่อถวายดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่มีอำนาจในการปกครองสูงสุดในเมืองด่านซ้าย ประการที่สองเล่นเพื่อร่วมขบวนแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง อันเป็นความเชื่อทางพุทธศาสนา ประการที่สาม เล่นเพื่อร่วมขบวนในการแห่บุญเดือนหก (บุญบั้งไฟ) และการแห่ขอฝน ประการที่สี่ เล่นเพื่อความสนุกสนาน
ประการสุดท้าย เล่นเพื่อให้สิ่งที่ไม่ดีที่เคยกระทำด้วยกาย วาจา ใจ รวมถึงโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ให้ติดไปกับผีตาโขน โดยการนำไปล่องลำน้ำหมัน เป็นการเสร็จสิ้นพิธีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน
ในส่วนของการแสดงที่เกิดขึ้นในงาน สร้างความตื่นตาตื่นใจ ด้วยท้วงทำนองของจังหวะ ดนตรี ท่าทางที่ขึงขัง ชัดเจน ส่วนตัวทางทีมรู้สึก หรอยจังฮู้! แบบสุดจริงๆ เป็นการนำเสนอภาคใต้ได้ถึงเครื่องจริงๆ นอกจากการแสดงบนเวทีแล้ว ยังมีส่วนที่จัดแสดงเป็นที่ถ่ายรูป เรืองแสง ให้ทุกคนที่มางานได้ Glow in the Dark กันไปเลย
WANPRACHA (หนังตะลุง Shadow Art)
อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของทางภาคใต้ แต่เดิมคนในท้องถิ่นภาคใต้เรียกหนังตะลุงสั้นๆ ว่า “หนัง” ดังคำกล่าวที่ได้ยินกันว่า “ไปแลหนังโนรา” จึงสันนิษฐานว่า คำว่า “หนังตะลุง” คงจะเริ่มใช้เมื่อมีการ นำหนังจากภาคใต้ไปแสดงให้เป็นที่รู้จักในภาคกลาง จึงได้เกิดคำว่า “หนังตะลุง” ขึ้น เพื่อไม่ให้ซ้ำกับหนังใหญ่ ซึ่งแต่เดิม เรียกว่า “หนัง” เช่นเดียวกัน
หนังจากภาคใต้เข้าไปเล่น ในกรุงเทพฯ ครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า เจ้าอยู่หัว โดยพระยาพัทลุง (เผือก) นำไปเล่นแถวนางเลิ้ง หนังที่เข้าไปครั้งนั้นเป็นนายหนังจากจังหวัดพัทลุง คนกรุงเทพฯ จึงเรียก “หนังพัทลุง” ต่อมาเสียงเพี้ยนเป็น “หนังตะลุง”
หนังตะลุงเป็นการเล่าเรื่องราวที่ผูกร้อยเป็นนิยาย ดำเนินเรื่องด้วยบทร้อยกรองที่ขับร้องเป็นสำเนียงท้องถิ่น หรือที่เรียกกันว่าการ “ว่าบท” มีบทสนทนาแทรกเป็นระยะ และใช้การแสดงเงาบนจอผ้าเป็นสิ่งดึงดูดสายตาของผู้ชม ซึ่งการว่าบท การสนทนา และการแสดงเงานี้ นายหนังตะลุง เป็นคนแสดงเองทั้งหมด
ในงานนี้ ก็มีการตั้งเป็นฉากถ่ายรูปขนาดใหญ่คล้ายกับโซนผีตาโขน รวมถึงมีการแสดงมโนราห์ ที่คนในท้องถิ่นภาคใต้ชอบกล่าวกันว่า “ไปแลหนังโนรา” ในงานนี้ได้นำเสนอในรูปแบบที่เรียกได้ว่า มโนราห์ 4.0 เลย ใครที่พลาดไป อยากให้ติดตามงานนี้ในปีหน้าได้เลย
PABAJA (สาวรำวง Dance Floor)
รำวงย้อนยุค หรือรำวงพื้นบ้าน คือ รำโทนในภาคกลาง ซึ่งชาวจันทบุรี เรียกกันทั่วไปในอดีตว่า รำวงเขี่ยไต้ เป็นการแสดงพื้นบ้านของชาวบ้าน เมื่อประมาณ 50-60 ปีมาแล้ว เพื่อเป็นการบันเทิง ในขณะนวดข้าว สลับกับการร้องเพลงหงส์ฟาง โดยใช้เครื่องดนตรี เป็นอุปกรณ์ที่หาได้ในขณะนั้น เป็นเครื่องกำหนดจังหวะ เช่น ใช้เคาะไม้ เคาะปี๊ป ต่อมาใช้เป็นศิลปะในการหาเลี้ยงชีพ คือรับจ้างแสดงตามงานต่างๆ หรือมักเล่นกันในช่วงในฤดูแล้ง มักจัดขึ้นในงานวัด เช่น งานวันวิสาขบูชา งานประจำปี หรืองานบวช
ปัจจุบันรำวงย้อนยุค หรือรำวงพื้นบ้าน อาจจะหาดูได้ยากแล้วในปัจจุบัน แต่ในงาน Walk Festival ครั้งนี้ มีการแสดงที่ผสมผสานความเป็น รำวงของภาคกลาง และการเซิ้งของภาคอีสานเข้ามาประกอบกัน บวกกับดนตรีในยุคปัจจุบัน ที่ทำให้รู้สึกว่าการรำวง สลับกับเซิ้ง ดีดไห และการเต้นสไตล์ตะวันตก ทำให้ทุกคนในงานสามารถเข้าถึงในความเป็นไทยๆ แบบนี้ได้ ใจกลางฮอลล์ บริเวณ Dance Floor เรียกได้ว่า เรียกเสียงฮือฮา ตื่นตาตื่นใจมากเลยทีเดียว
Walk Festival Bangkok 2019
นี่เป็นเพียงภาพบรรยากาศส่วนหนึ่งในงาน Walk Festival Bangkok 2019 ที่ทางทีมสัมผัสได้ถึงความต้องการในการนำเสนอ การแสดงแบบไทยๆ ของแต่ละภูมิภาค ที่ทำให้ผู้คนที่มางานนี้ได้ตระหนักถึง ว่ายังมีการแสดงแบบไทยๆ ลักษณะนี้อยู่ รวมถึงทางผู้จัดงานได้นำเสนอในรูปแบบที่เข้าถึงง่าย เหมาะสมกับปัจจุบัน และน่าสนใจมากกว่าแบบดั้งเดิม
ทางทีม Zipevent จึงขอเชิญชวนให้ทุกคนติดตามกิจกรรมดีๆ อย่างกิจกรรมในครั้งนี้ ได้ที่ Johnnie Walker รวมถึงทางทีม Zipevent อยากช่วยเผยแพร่ให้ผู้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้ และมีความปรารถณาที่จะให้งานอีเว้นท์อื่นๆ พยายามสอดแทรกอะไรก็ได้ ที่มีความเป็นไทย ในรูปแบบสมัยใหม่ที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น
ฝากติดตามข่าวสารงานอีเว้นท์กับ Zipevent ในช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ตามนี้เลย Line: @Zipevent (อย่าลืมเติม @ ข้างหน้าด้วยนะคะ)
หรือจิ้มไปที่ลิงก์นี้ได้เลย @Zipevent
Instagram: @Zipevent
Website: www.zipeventapp.com
Twitter: @Zipevent
Facebook: @Zipevent
ขอขอบพระคุณรูปภาพจาก Walk Festival Bangkok 2019 และข้อมูลจากเว็บไซต์มิวเซียมไทยแลนด์ และเว็บไซต์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม