Trending Now

สำหรับสายกราฟิกมือใหม่อาจจะต้องมีมึนกับ นามสกุลไฟล์ภาพ กันบ้างแน่นอน เพราะมันมีเยอะมาก! เลยไม่ค่อยแน่ใจว่าอันนี้ต้องใช้งานกับไฟล์ภาพประเภทไหน หรือรูปนี้ใช้นามสกุลไฟล์ภาพไหน รูปของเราถึงจะออกมาคุณภาพดีที่สุดกันนะ

แต่ไม่ต้องห่วงเลย เพราะวันนี้เราขอชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับนามสกุลไฟล์ภาพกันให้มากยิ่งขึ้น! ว่าจริงๆ แล้วไฟล์ภาพมีนามสกุลอะไรบ้าง แล้วแต่ละอันมีข้อดี ข้อด้อย และใช้แตกต่างกันไปยังไงบ้าง ถ้าพร้อมแล้วก็ไปดูกันเลย


#1 JPEG (.jpeg)

นามสกุลไฟล์ภาพอันแรกที่ทุกคนคุ้นหูกันเป็นอย่างดีจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก JPEG หรือ .jpg ซึ่งย่อมาจาก Joint Photographic Experts Group เป็นรูปแบบไฟล์ภาพในการจัดเก็บและแสดงผลรูปภาพทั่วไป มักจะเห็นได้ตามเว็บไซต์และบนโลกออนไลน์

นอกจากนี้ JPEG ยังเป็นไฟล์ภาพรูปแบบ การบีบอัดแบบสูญเสียข้อมูล หรือ คือรูปแบบของการเข้ามาลบข้อมูลภาพที่ซึ่งเราไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งจะทำให้ไฟล์ภาพมีขนาดเล็ก ช่วยประหยัดพื้นการจัดเก็บข้อมูล แต่ยังสามารถคงคุณภาพของรูปไว้ได้ดีนั่นเอง

ทำความรู้จัก 8 นามสกุลไฟล์ภาพ ประเภทต่างๆ ฉบับสายกราฟิกมือใหม่! Zipevent

ข้อดี

  • ไฟล์ภาพมีขนาดเล็ก สามารถถ่ายโอนข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว
  • มีความคมชัด
  • แสดงสีมากถึง 16.8 ล้านสี
  • ช่วยประหยัดพื้นที่การใช้งาน
  • รองรับเกือบทุกโปรแกรมและซอฟต์แวร์

ข้อเสีย

  • ไม่รองรับรูปภาพโปร่งใส
  • การบีบอัดแบบสูญเสียข้อมูล หากมีการบีบอัดมากเกินไป อาจทำให้คุณภาพของรูปลดลงและสูญเสียความคมชัดไปได้เหมือนกัน

เหมาะสำหรับ – การใช้งานทั่วไป ต้องการรูปคุณภาพปานกลาง และต้องการประหยัดพื้นที่
เช่น รูปภาพดิจิตอล, รูปภาพออนไลน์, รูปภาพบนเว็บไซต์และเอกสาร ไปจนถึงรูปถ่าย


#2 PNG (.png)

ถัดมาจะเป็นไฟล์ยอดฮิตในสายกราฟิก ซึ่งก็คือ PNG นั่นเอง ย่อมาจาก Portable Network Graphics เป็นรูปแบบไฟล์ที่ใช้ในการแสดงผลรูปภาพดิจิตอลที่มีคุณภาพและรายละเอียดสูง ที่สำคัญ คือ สามารถบีบอัดรูปภาพได้โดยไม่สูญเสียข้อมูลและรองรับสีได้มากถึง 16 ล้านสี!

ทำความรู้จัก 8 นามสกุลไฟล์ภาพ ประเภทต่างๆ ฉบับสายกราฟิกมือใหม่! Zipevent

ข้อดี

  • มีคุณภาพและรายละเอียดสูง
  • รองรับรูปภาพแบบโปร่งใส
  • รองรับสีได้มากกว่าล้านสี
  • สามารถบีบอัดรูปภาพได้โดยที่คุณภาพของรูปไม่ลดลง

ข้อเสีย

  • ด้วยรายละเอียดที่สูง ทำให้ไฟล์ภาพมีขนาดใหญ่
  • ไม่รองรับโหมดสี CMYK
  • ไม่รองรับภาพเคลื่อนไหว
  • ไม่เหมาะสำหรับการเปลี่ยนเป็นไฟล์สิ่งพิมพ์

เหมาะสำหรับ – การออกแบบโลโก้และกราฟิกบนเว็บไซต์


#3 GIF (.gif)

และนามสกุลอันที่สามก็คือ GIF หรือ .gif ซึ่งย่อมาจาก Graphics Interchange Format เป็นรูปแบบไฟล์ที่ใช้ในการแสดงภาพกราฟิกและภาพเคลื่อนไหวแบบง่ายๆ บนอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก และยังสามารถรวมรูปภาพเพื่อสร้างภาพเคลื่อนไหวได้อีกด้วย

ทำความรู้จัก 8 นามสกุลไฟล์ภาพ ประเภทต่างๆ ฉบับสายกราฟิกมือใหม่! Zipevent

ข้อดี

  • ใช้เวลาในการสร้างภาพเคลื่อนไหวไม่นาน
  • มีขนาดไฟล์ค่อนข้างเล็ก
  • ไม่สูญเสียคุณภาพ เมื่อมีการบีบอัด

ข้อเสีย

  • รองรับสีได้แค่ 256 สี
  • รายละเอียดภาพค่อนข้างต่ำ
  • กลับไปแก้ไขไฟล์ภาพได้ยาก

เหมาะสำหรับ – งานกราฟิกและโลโก้ที่มีสีน้อย และมีมเคลื่อนไหวบนโซเชียลมีเดีย


#4 TIFF (.tiff)

ถัดมา คือ TIFF หรือ .tiff ย่อมาจาก Tagged Image File Format เป็นรูปแบบไฟล์ที่ใช้สำหรับการจัดเก็บข้อมูลและรูปภาพ ไปจนถึงการแก้ไขภาพ การจัดพิมพ์ และการออกแบบกราฟิก ซึ่งมักจะนิยมในหมู่ช่างภาพ เพราะเป็นรูปแบบไฟล์ที่สามารถจัดเก็บข้อมูลคุณภาพสูงไว้ได้เป็นอย่างดีนั่นเอง

ข้อดี

  • มีคุณภาพและรายละเอียดสูง
  • มีการรองรับอย่างเป็นสากล
  • สามารถจัดเก็บรวบรวมภาพได้อย่างมีคุณภาพ

ข้อเสีย

  • ด้วยรายละเอียดที่สูง ทำให้ไฟล์มีขนาดใหญ่และอาจกินพื้นที่การใช้งานเกินจำเป็น
  • สามารถส่งต่อหรือแชร์ได้ค่อนข้างยาก
  • ไม่เหมาะสำหรับการใช้งานกับเว็บไซต์

เหมาะสำหรับ การออกแบบกราฟิก การจัดพิมพ์  จัดเก็บข้อมูล และภาพถ่ายคุณภาพสูง


#5 PSD (.psd)

นามสกุลไฟล์ภาพที่ฮอตฮิตไม่แพ้อันไหนอีกหนึ่งนามสกุลก็คือ PSD หรือ .psd ย่อมาจาก Photoshop Document เป็นรูปแบบไฟล์ในระบบของ Adobe Photoshop ที่สามารถปรับแต่งภาพถ่าย อย่างเช่น การรีทัช หรือ การจัดองค์ประกอบในภาพ อีกทั้งยังสามารถออกแบบไฟล์ภาพดิจิตอลและกราฟิกได้อย่างมืออาชีพ ซึ่งไฟล์ PSD นี้ก็เป็นที่นิยมกันในสายกราฟิกและสายออกแบบ

ทำความรู้จัก 8 นามสกุลไฟล์ภาพ ประเภทต่างๆ ฉบับสายกราฟิกมือใหม่! Zipevent

ข้อดี

  • สามารถจัดเก็บข้อมูลและคุณภาพของรูปได้ในจำนวนมาก
  • สามารถจัดเลเยอร์ได้จำนวนมาก
  • รองรับพิกเซลได้มากถึง 30,000 พิกเซล
  • มีเฉดสีและระยะที่ล้ำลึก
  • แก้ไขระหว่างเลเยอร์ได้

ข้อเสีย

  • ด้วยคุณภาพที่สูง ทำให้ไฟล์มีขนาดใหญ่ และอาจเกิดปัญหาในการเก็บหรือส่งต่อ
  • มีข้อจำกัดในการใช้งานบนซอฟต์แวร์อื่นๆ เช่น Windows และ mac

เหมาะสำหรับ การออกแบบกราฟิกและการปรับแต่งรูปภาพ


#6 AI (.ai)

AI หรือ .ai ย่อมาจาก Adobe Illustrator เป็นรูปแบบไฟล์ในระบบของ Adobe Illustrator ที่ใช้ในการออกแบบโลโก้ การพิมพ์รูปภาพ ภาพวาด และการออกแบบไฟล์ภาพดิจิตอลและกราฟิก โดยเฉพาะกราฟิกที่เป็นภาพโปร่งใส ที่สำคัญ คือ สามารถปรับขนาดได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ไม่ว่าจะปรับให้ขนาดเล็กลงหรือใหญ่ขึ้น คุณภาพและรายละเอียดของรูปภาพก็ยังคงเดิม!

ข้อดี

  • แก้ไขและปรับขนาดรูปภาพได้อย่างเต็มที่ไม่มีขีดจำกัด
  • รองรับภาพโปร่งใสและการวางเลเยอร์
  • มีความคมชัดและรายละเอียดสูง

ข้อเสีย

  • มีข้อจำกัดในการใช้งานบนแอปอื่นๆ ที่ไม่ใช่ Adobe Illustrator
  • ไม่เหมาะสำหรับการแก้ไขพิกเซล

เหมาะสำหรับ การออกแบบกราฟิกและการแก้ไขปรับแต่งรูปภาพ


#7 SVG (.svg)

ถัดมาคือ SVG (.svg) ย่อมาจาก Scalable Vector Graphics เป็นรูปแบบไฟล์เวกเตอร์ที่จัดเก็บข้อมูลและปรับขนาดรูปภาพได้อย่างเต็มที่ โดยที่คุณภาพและรายละเอียดของรูปไม่ลดลง อีกทั้งยังนิยมใช้ในการแสดงผลรูปภาพกราฟิกสองมิติ ตลอดจนแผนภูมิ และรูปภาพบนเว็บไซต์ออนไลน์ต่างๆ

ข้อดี

  • สามารถปรับขนาดรูปภาพได้โดยที่คุณภาพไม่ลดลง
  • โปรแกรมอ่านข้อมูลสามารถสแกนข้อความที่อยู่ในภาพได้

ข้อเสีย

  • ไม่เหมาะสำหรับการแสดงภาพถ่ายคุณภาพสูง
  • บางเบราว์เซอร์ยังไม่รองรับ
  • มีความยากในการใช้งานสำหรับมือใหม่

เหมาะสำหรับ การแสดงผลภาพกราฟิกสำหรับเว็บไซต์ อย่าง โลโก้ ไอคอน ภาพประกอบ หรือ infographic


#8 RAW (.raw)

และอันดับสุดท้าย คือ RAW หรือ (.raw) เป็นข้อมูลไฟล์ภาพที่มาจากเซ็นเซอร์ของอุปกรณ์นั้นๆ โดยตรง มักจะมาจากกล้อง DSLR โดยไม่ผ่านการปรับแต่งหรือการบีบอัดใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้มีรายละเอียดสูงและไม่มีการสูญเสียคุณภาพของรูปไปเลยแม้แต่นิดเดียว ซึ่งสามารถนำมาแก้ไขหรือบีบอัดได้ในภายหลังโดยที่คุณภาพของรูปไม่ลดลง

ข้อดี

  • มีคุณภาพและรายละเอียดสูง
  • มีช่วงสีที่กว้างยิ่งกว่าไฟล์ประเภท JPEG
  • สามารถปรับแต่งภาพได้ดีกว่า
  • สามารถบีบอัดได้โดยไม่สูญเสียคุณภาพ

ข้อเสีย

  • ด้วยคุณภาพที่สูง ทำให้ไฟล์มีขนาดใหญ่
  • ใช้เวลาในการแปลงไฟล์ค่อนข้างนาน
  • มีขั้นตอนในการทำงานที่นานขึ้น
  • ต้องมีการแปลงเป็นไฟล์อื่นก่อน ถึงจะสามารถแชร์ออกไปได้

เหมาะสำหรับ การถ่ายและจัดเก็บข้อมูลภาพที่มีรายละเอียดสูง


หวังว่า นามสกุลไฟล์ภาพ ที่ซิปมาแนะนำวันนี้
จะช่วยให้ทุกคนได้รู้จักและเข้าใจไฟล์แต่ละอันกันมากยิ่งขึ้น
และได้มีประโยชน์กับการใช้งานของทุกคนในอนาคตต่อไปนะคะ ♡


☺อ่านบทความกราฟิกอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่นี่เลย:


อ้างอิงข้อมูลและเรียบเรียงจาก


Follow us for more interesting content!

ฝากถึงพี่น้อง แฟนๆ ที่เคารพรักทุกท่าน ฝากติดตามข่าวสารงานอีเว้นท์กับ Zipevent ในช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ตามนี้เลย จิ้มๆ

Comments

comments