Trending Now

อีกไม่กี่วันก็จะหมดปีแล้ว มนุษย์เงินเดือนแบบพวกเรา ในต้นปีหน้าจะต้องทำหน้าที่อันใหญ่หลวงใน นั่นก็คือการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา! นั่นเองค่ะ วันนี้ทีมซิปได้รวบรวม รายการลดหย่อนภาษี มาไว้ให้เพื่อนๆเช็คลิส นั่งคำนวณว่าปีนี้พวกเราจะเสียภาษีกันไหม หรือถ้าเสียจะเสียเท่าไรบ้าง ไปดูกันเลยดีกว่าค่ะ

|

ใครที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2566 บ้าง?

คนไทยทุกคนที่มีเงินได้ (รายรับ) เกิน 120,000 บาท/ปี มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถคำนวณได้จากการนำเงินได้ทั้งปี มาหักลบกับค่าใช้จ่าย และรายการลดหย่อนภาษีทั้งหมด มาหักค่าใช้จ่ายได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาทหากรายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษี แต่ถ้าเกิน จะเสียภาษีในอัตราเริ่มต้น 5% และจะสูงขึ้นตามอัตราภาษีแบบขั้นบันได แต่ รายการลดหย่อนภาษี จะช่วยทำให้รายได้สุทธิให้ลดลง จึงเสียภาษีน้อยกว่าคนที่ไม่มีรายการลดหย่อนภาษีเลยนั่นเอง

ใครที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2566 บ้าง
อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

กรมสรรพากรเปิดให้ยื่นภาษี ตั้งแต่

  • กรณียื่นแบบเอกสารณ สำนักงานสรรพากรทุกสาขา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2567
  • ยื่นผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th ได้ถึง 8 เมษายน 2567

สำหรับชาวฟรีแลนซ์แวะอ่านบทความนี้ก่อนเลย!
https://www.zipeventapp.com/blog/2022/09/09/freelance-tax-knowledge/


รายการลดหย่อนภาษี ปี 2566 มีอะไรบ้างมาดูกัน!

รายการลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว

  1. ค่าลดหย่อนส่วนบุคคล 60,000 บาท
  2. ค่าลดหย่อนจากคู่สมรส (ที่ไม่มีรายได้) 60,000 บาท
  3. ค่าลดหย่อนจากบุตร คนละ 30,000 บาท
    หากเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย สามารถลดหย่อนได้แบบไม่จำกัดนวนบุตร แต่ถ้าหากเป็นบุตรบุญธรรม สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน โดยมีเงื่อนไขดังนี้
    • อายุไม่เกิน 20 ปี
    • ถ้าอายุ 21 – 25 ปี ต้องศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ขึ้นไป
    • บุตรมีเงินได้ไม่ถึง 30,000 บาทต่อปี
      ในกรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไปที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป จะสามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
  4. ค่าลดหย่อนจากการฝากครรภ์และคลอดบุตร หักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง ไม่เกิน 60,000 บาท ต่อการคลอด 1 ครั้ง
  5. ค่าลดหย่อนจากการดูแลเลี้ยงดูพ่อแม่ (ค่าเลี้ยงดูอุปการะบิดา-มารดา) ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คนละ 30,000 บาท
    • จะต้องเป็นพ่อแม่ที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือพ่อแม่ที่แท้จริงเท่านั้น
    • พ่อ-แม่ จะต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
    • โดยพ่อแม่ต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
    • สามารถหักลดหย่อนสำหรับพ่อแม่ของคู่สมรสได้อีกคนละ 30,000 บาท
  6. ค่าลดหย่อนจากการอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท
    • โดยผู้พิการต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการ
    • หากผู้พิการหรือทุพพลภาพเป็นบิดา-มารดา-บุตร-คู่สมรส ของผู้มีเงินได้ สามารถใช้สิทธิควบคู่กันได้เลย เช่น มารดาอายุเกิน 60 ปี เป็นผู้พิการ ไม่มีรายได้ เราสามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุด (30,000+60,000 บาท) เท่ากับลดหย่อยได้ 90,000 บาท

รายการลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน การออมและการลงทุน

  1. ประกันสังคมสูงสุด 9,000 บาท
  2. เบี้ยประกันสุขภาพของพ่อแม่และคู่สมรส ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
  3. เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป หรือเงินฝากแบบมีประกันชีวิต (คุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป) ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  4. เบี้ยประกันสุขภาพตัวเอง ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตทั่วไปแล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
  5. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนได้ 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และอาจจะลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาท ถ้ายังไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป โดยมีเงื่อนไขดังนี้
    • ระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป
    • จ่ายผลตอบแทนให้ผู้เอาประกันตั้งแต่อายุ 55 ปี ต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 85 ปี หรือมากกว่านั้น
  6. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนได้ 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
  7. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ลดหย่อนได้ 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
  8. กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
    • ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี หรืออย่างน้อยปีเว้นปี
    • ต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อครั้งแรก โดยนับเฉพาะปีที่มีการซื้อหน่วยลงทุน คือ ปีใดไม่ลงทุนจะไม่นับว่ามีการลงทุนในปีนั้น
    • ขายได้ตอนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
  9. กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
    • ต้องถือหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ
    • ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อและไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี
  10. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุด 30,000 บาท

**กองทุน RMF, กองทุน SSF, กบข., กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อรวมกันทั้งหมด ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

รายการลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่าย

  1. ช้อปดีมีคืน ตามจำนวนที่ใช้จ่ายจริง ไม่เกิน 40,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
    • ซื้อสินค้าและบริการทั่วไปที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หนังสือ (รวมถึง e-book) และสินค้า OTOP ลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชนแล้ว
    • มีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ลดหย่อนได้ 30,000 บาท
    • มีใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ ลดหย่อนเพิ่มได้อีก 10,000 บาท
    • ใช้สำหรับการซื้อสินค้าในช่วงวันที่ 1 ม.ค. – 15 ก.พ. 66
  2. เงินลงทุนวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) 100,000 บาท
  3. ดอกเบี้ยบ้าน จากเงินกู้ยืมเพื่อการมีที่อยู่อาศัย สามารถใช้ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
    • ต้องเป็นการกู้เพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่บนที่ดินของตัวเอง หรือกู้เพื่อซื้อบ้าน คอนโดมิเนียม หรือที่อยู่อาศัย โดยเราต้องอาศัยในบ้านหลังนี้ด้วย
    • ต้องเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินภายในประเทศ
    • หากมีการกู้สำหรับที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 แห่ง สามารถรวมกันได้ แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
    • กรณีกู้ร่วมกันหลายคน ให้แบ่งดอกเบี้ยคนละเท่า ๆ กัน

รายการลดหย่อนภาษีจากเงินบริจาค

  1. บริจาคพรรคการเมือง 10,000 บาท
  2. เงินบริจาคเพื่อการศึกษา ลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10%
    • ต้องเป็นสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด   
    • ต้องบริจาคและบันทึกข้อมูลผ่านระบบ e-Donation เท่านั้น (หากบริจาคเป็นเงินสด ไม่ได้ผ่านระบบ e-Donation จะลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า)
  3. เงินบริจาคเพื่อมูลนิธิด้านสาธารณสุข และโรงพยาบาลรัฐ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10%
    • เป็นการบริจาคให้สถานพยาบาลต่าง ๆ ของราชการ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา องค์การมหาชน หรือหน่วยงานต่าง ๆ (แต่ถ้าบริจาคให้มูลนิธิของโรงพยาบาลจะลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า)
    • ต้องมีหลักฐานใบเสร็จรับเงิน หรือมีการบันทึกข้อมูลบริจาคผ่านระบบ e-Donation ซึ่งส่งข้อมูลถึงกรมสรรพากรโดยตรง
    • การบริจาคเงินให้สภากาชาดไทยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 – 31 ธันวาคม 2567 ก็สามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
  4. เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนกีฬา ลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้ หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
    • เป็นการบริจาคเงินให้หน่วยงานด้านกีฬาที่สังกัดสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย หรือกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ หรือกรมพลศึกษา
    • มีหลักฐานใบเสร็จรับเงิน หรือมีการบันทึกข้อมูลบริจาคผ่านระบบ e-Donation ซึ่งส่งข้อมูลถึงกรมสรรพากรโดยตรง
  5. เงินบริจาคเพื่อพัฒนาสังคมต่างๆ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้ ต้องบริจาคให้หน่วยงานเพื่อการพัฒนาสังคม เช่น
    • กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยาตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ 
    • กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข 
    • กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 
    • กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมตามกฎหมายว่าด้วยสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 
    • มูลนิธิชัยพัฒนา
    • มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  6. เงินบริจาคอื่นๆ มูลนิธิและองค์กรสาธารณกุศล ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
รายการลดหย่อนภาษีจากเงินบริจาค

ขอขอบคุณข้อมูลจาก:

  • https://www.ttbbank.com/th/fin-tips/detail/tax-deduction-2023
  • https://money.kapook.com/view274762.html
  • https://money.kapook.com/view249063.html
  • https://www.ddproperty.com

Follow us for more interesting content!

ฝากถึงพี่น้อง แฟนๆ ที่เคารพรักทุกท่าน ฝากติดตามข่าวสารงานอีเว้นท์กับ Zipevent ในช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ตามนี้เลย จิ้มๆ

Comments

comments

Author

No Music, No Life