แนวเพลง ที่เป็นกระแสนิยมในปัจจุบันมีอะไรกันบ้าง? วิธีแยกแยะแต่ละแนวเขาใช้อะไรในการแบ่งแยกประเภท ซิปพาเพื่อนๆ มาหาคำตอบกันว่าแต่ละประเภทนั้นแบ่งได้อย่างไร เพื่อให้เราเข้าใจและสามารถรู้ว่าแนวที่เราชอบฟังคือแนวไหน งั้นมารู้จัก 8 แนวเพลงที่ได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบันกันเถอะ ถ้าพร้อมกันแล้วไปดูกันเลย!

ส่วนใครอยากเพลงฟังใหม่ๆ เพิ่มล่ะก็ ลองแวะไปฟัง เพลย์ลิสต์อินเลิฟ Spotify เพื่อเพิ่มความหวานในเดือนกุมภาพันธ์กันดูนะ หรือใครที่อยากได้เพลงแบบรักสุดๆ ก็ไปตามฟังที่ 8 เพลงรัก ได้รับแล้วหยุดยิ้มไม่ได้ รับรองถูกใจวัยรุ่นอินดี้ทุกคนแน่นอน!


1. แนวเพลงป๊อป (POP)

แนวเพลง Zipevent

หากว่ากันตามสไตล์เพลงที่ชาวซิปเคยได้ยินกันจนคุ้นชินหู ก็ต้องบอกว่าแนวเพลงป็อปเป็นแนวเพลงที่เน้นในเรื่องของการฟังแบบสบายๆ มีเมโลดี้ที่ฟังง่าย ไม่ต้องคิดลูกเล่นอะไรให้ซับซ้อนมากจนเกินไปมีทำนองของเพลงที่ฟังแล้วรู้สึกได้ถึงความไพเราะ เคลิบเคลิ้ม หลงใหลจนอยากสัมผัสกับความพิเศษตรงจุดนี้ เนื้อหาของเพลง สามารถออกได้หลากหลายรูปแบบ แต่ส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะออกในแนวเพลงรัก อกหัก กระแสสังคม มากกว่าการเสียดสีสังคม ส่งผลให้คนฟังเองรู้สึกสนุก คล้อยตามไปกับเพลงที่พวกเขาได้ยิน 

  • ดนตรีประเภทนี้ มักถูกนำมาผสมผสานกับดนตรีประเภทต่างๆ จนกลายเป็นเพลงพิเศษ   
  • มักผสมผสานกับแนวร็อก, ฮิปฮอป, แจ๊ส, อาร์ แอนด์ บี, โฟล์ก, พังค์, หรือแม้แต่อิเล็กทรอนิกส์แดนซ์ เป็นต้น

เพลงแนวนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในสหรัฐฯ แต่ก็ไม่ได้มีหลักฐานยืนยันชัดเจนนักว่ากลุ่มใด เป็นคนที่ริเริ่มแนวทางเพลงป็อปขึ้นมาก่อน โดยช่วงเวลาที่เพลงป็อปได้รับความนิยม ไปทั่วโลกอย่างแท้จริงคือยุค 80 ที่มีผู้นำหรือ “ราชาเพลงป็อป” อย่างไมเคิ่ล แจ็กสัน โด่งดังขึ้นมาแบบฉุดไม่อยู่ นอกจากไมเคิ่ลแล้ว มีศิลปินไทยในปัจจุบันที่มีชื่อเสียงของแนวเพลงนี้ อย่างเช่น นนท์ ธนนท์, โบกี้ ไลอ้อน, The Toys และอื่นๆ อีกมากมาย บอกได้เลยว่าแนวเพลงนี้ฟังวนได้ทุกยุคทุกสมัยจริงๆ


2. แนวเพลงร็อกแอนด์โรล (Rock’n Roll)

แนวเพลง Zipevent

ดนตรีแนวร็อกแอนด์โรล (Rock’n Roll) เป็นดนตรีอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก มีการพัฒนาการในประเทศสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ยุคปลายทศวรรษทื่ 1940 และมาได้รับความนิยมอย่างสูงในทศวรรษที่ 50 พร้อมกับแพร่ขยายไปทั่วโลก มีชื่อเรียกกันอย่างคุ้นหูว่า “ร็อก” ถ้าจะพูดถึงเรื่องจังหวะก็บอกได้เลยว่าร็อกนั้น จะเป็นจังหวะแบบ บูกี่ บูกกี้ บลูส์ และมีช่วงที่เด่นๆ ได้แก่ช่วง “แบ็ค บีท” 

ต่อมาในช่วงแรกๆ ของยุค 40’s ความนิยมดนตรีร็อกมีอย่างมาก ทำให้วัยรุ่นมีแฟชั่นอื่นๆ ตามมาอีกด้วย เช่น สไตล์การใช้ภาษา เนื่องจากมีศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบ ได้แก่ เอลวิส เพรสลีย์ ที่เป็นดารานำในภาพยนตร์เพลงหลายเรื่องในยุคร็อกแอนด์โรล “ร็อกแอนด์โรล” เป็นการนำมาผสมผสานกับดนตรีของคนผิวดำ ทำให้ได้เป็นดนตรีแนวใหม่ขึ้นมา และเป็นจังหวะที่รุ่นแรงยิ่งขึ้น 

ทำให้วัยรุ่นในสมัยนั้นคลั่งไคล้กันอย่างมาก และมีการใช้ภาษาในการพูดจาที่ฟังแล้วโจ่งแจ้ง เป็นการแสดงอารมณ์ออกมาได้อย่างชัดเจน รวมทั้งการแต่งกายและทรงผมที่แปลกตาออกไปโดยมีการไว้จอนยาว และหวีผมที่ต้องใช้เยล ให้อยู่ตัว มีการเต้นอย่างบ้าระห่ำ ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงออกที่ทำให้เห็นตัวตนได้เป็นอย่างดี มีภาษากายที่แสดงออกอย่างเด่นชัด สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นแนวทางที่ขัดแย้งกับผู้ใหญ่ หรือคนรุ่นเก่า ในสมัยนั้นอย่างรุนแรงที่เห็นว่าไม่ถูกต้องในยุคนั้น ร็อกแอนด์โรลจึงถูกประณามว่า เป็นแนวดนตรีปีศาจ (Devil’s Music) เนื่องจากหลายคนยังไม่คุ้นกับความใหม่ และแหวกแนวของดนตรีอย่างแท้จริง


3. แนวเพลงคันทรี่ (Country)

แนวเพลง Zipevent

สำหรับเพลงคันทรี่นั้น หากจะให้อธิบายความอย่างง่าย ก็คือ เพลงลูกทุ่งตามสไตล์อเมริกา โดยแนวเพลงนี้ได้รับความนิยมในประเทศสหรัฐอเมริกาทางตอนใต้ เชื่อกันว่า ดนตรีคันทรี่เกิดมาจากดนตรีโฟล์คซอง ดนตรีเคลติค ดนตรีกอสเปล และ ดนตรีโอลด์ไทม์ มาผสมผสานกันจนกลายเป็นแนวเพลงคันทรี่ แนวเพลงนี้มาได้รับความนิยมและโด่งดัง มาในช่วงทศวรรษที่ 1920 ก่อนจะมาได้รับความนิยมในแบบกว้างขวางก็ในปี 1970 เป็นต้นมา

ตอนนั้นดนตรีแนวคันทรี่จะกระจายไปทั่วโลก ถ้าถามว่าในสมัยนี้อาจจะนึกไม่ออกว่า จะฟังเพลงคันทรี่ของใครดี ซิปขอแนะนำสักหน่อย เพลงแรก Take me Home ของ John Denver เพลงนี้ถือว่าเป็นตัวแทนของเพลงคันทรี่สไตล์ได้เลย เอาแค่ท่อนอินโทรที่เราจะได้ยินเสียงกีตาร์ และตามมาด้วยเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์ของเค้าเอง หากเราหลับตาฟังเพลงนี้ไปเพลินๆ จะนึกว่าเรานั่งอยู่กองฟางในฟาร์มสุดลูกหูลูกตา มันให้บรรยากาศแบบนั้นได้เลย 

และอีกหนึ่งเพลงที่ขาดไม่ได้ต้องบอกก่อนว่าอาจจะไม่ใช่ เพลงคันทรี่แท้ เป็นคันทรี่ผสมร็อคสไตล์เข้าไปด้วย แต่ไลน์ดนตรีก็เป็นที่น่าจดจำไปทั่วโลก นั่นก็คือเพลง hotel California ของวง eagles ความเป็นคันทรี่ของเพลงนี้จะพาเราไปยังชนบท ในรูปแบบชายทะเล พอนั่งฟังเราจะได้เห็นทิวมะพร้าว คลื่นชายทะเล ลมทะเลได้เลยทีเดียว เป็นอีกหนึ่งเพลงที่เรามักจะพูดถึงเสมอหากบอกถึงเพลงคันทรี่ 

คำถามสำคัญก็คือทำไมเพลงคันทรี่ถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก คำตอบก็คือ มันเป็นเพลงที่เราฟังง่าย เข้าใจง่าย แม้บางครั้งอาจจะยังไม่เข้าใจเนื้อเพลงก็ตาม การฟังเพียงแค่ดนตรีอย่างเดียว ก็เพียงพอสำหรับการเสพดนตรีแล้ว ถ้าไม่เชื่อก็ลองหาเพลงที่เราแนะนำมาฟังกันได้


4. แนวเพลงแดนซ์ (EDM)

แนวเพลง Zipevent

EDM หรือชื่อเต็มๆ ว่า Electronic Dance Music เป็นแนวของดนตรีที่ได้รับความนิยม ในต่างประเทศเป็นอย่างมาก ขนาดที่ว่ากลายเป็นดนตรีกระแสหลักไปแล้ว ซึ่งแนวดนตรีแบบ EDM ก็จะใช้เครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีเป็นหลัก เล่นซาวด์แบบที่ให้ความรู้สึกสนุก ครื้นเครง อยากจะลุกขึ้นมาเต้น โดยจะอยู่ในรูปแบบของ Digital ซึ่งทางฝั่งยุโรปฮิตกันมาก สำหรับในเมืองไทยก็จะเป็นแนวดนตรีที่วัยรุ่นเรียกกันติดปากว่า “เพลงตื๊ด” นั่นเอง 

ความฮิตของ EDM นั้นไม่หยุดอยู่เพียงกลุ่มปาร์ตี้หรือคนเที่ยวกลางคืนเท่านั้น นอกจากในผับดนตรีแนวนี้ยังเข้าไปถึงไลฟ์สไตล์ของคนทั่วไป ไม่ว่าจะเดินช็อปปิ้งในห้างสรรพสินค้า นั่งทานอาหารในร้านอาหารต่างๆ หรือแม้กระทั่งทางหน้าปัดวิทยุคลื่นเพลงสากล ดนตรีเหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งไปแล้วในปัจจุบัน

อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับแนวเพลง EDM นั้นมีไม่เยอะเท่าเครื่องดนตรีอื่นๆ ตอนแสดงสด เอาจริงๆ แล้วบางทีมีแค่ Laptop สักเครื่องกับ Midi Controller ก็อาจจะเพียงพอ นอกเหนือจากนั้นอยู่ที่สไตล์และโชว์ของวงดนตรีหรือดีเจคนนั้นๆ นะฮะ


5. แนวเพลงแจ๊ส (Jazz)

ดนตรีแจ๊ส เป็นดนตรีอีกแขนงหนึ่งที่มีความไพเราะอย่างมาก แต่น่าเสียดายว่า เรามักจะมองข้ามมันไปด้วยเหตุผลที่ใครมักจะพูดต่อกันมาว่า เข้าไม่ถึง ฟังยาก ต้องปลดล็อกสกิลหูทองคำก่อนถึงฟังได้ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เลย ดนตรีแจ๊สไม่ได้เป็นดนตรีที่ฟังยากมากมายอะไรขนาดนั้น เพื่อให้เข้าใจเพลงแจ๊สมากขึ้น เราขอใช้พื้นที่ตรงนี้อธิบายความแจ๊สสักหน่อย 

เชื่อกันว่า ‘ดนตรีแจ๊ส’ มีจุดเริ่มต้นมาจากชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันในรัฐนิวออร์ลีนส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ไปจนถึงต้นศตวรรษที่ 20 และเชื่อว่าแตกแขนงมาจากเพลงบลูส์ เพลงแจ๊สเริ่มมีวิวัฒนาการไปตามกาลเวลา เป็นวง big band ที่มีเครื่องดนตรีประเภททองเหลือง เช่น ทรัมเป็ต แซกโซโฟน ยูโฟเนียม มาเล่นรวมกันเยอะๆ จังหวะคึกคัก และมาเป็นเพลงแจ๊สเบาๆ ฟังแล้วเย็น ผ่อนคลาย

แต่หัวใจหลัก คือ ดนตรีแจ๊ส เริ่มละทิ้งโครงสร้างที่แน่นอน จังหวะที่แม่นเป๊ะ มาเป็นการอิมโพรไวซ์ ลื่นไหลไปตามอารมณ์ มีการนำรวมกับดนตรีประเภทอื่นๆ ช่วงเวลาที่ดนตรีประเภทนี้เริ่มแพร่ขยายไปสู่ชุมชน หรือคนชนชาติอื่นๆ แนวดนตรี Jazz rock คือตัวอย่างการฟีเจอริ่งทางดนตรีที่ชัดเจน และยังคงพบเห็นได้ยินกันอยู่ในทุกวันนี้


6. แนวเพลงบลูส์ (Blues)

เพลงบลูส์ ต้นกำเนิดมาจากคนผิวดำ เชื้อสายแอฟริกันในอเมริกา ที่ต้องใช้แรงงานอย่างหนัก และถูกกดขี่ จนแทบไม่เหลือความเป็นคน เป็นพลเมืองชั้นล่าง ซึ่งไร้เสรีภาพ เมื่อทาสถูกยกเลิกหลังจากที่อเมริกาเหนือชนะสงครามอเมริกาใต้ ทาสทั้งหมดจึงเป็นอิสระ มีทาสจำนวนมากเริ่มแตกแขนงไปทำหลายๆ อย่าง รวมไปถึงการสร้างชุมชนชาวผิวดำ วัฒนธรรมต่างของดนตรีแบบแอฟริกันจึงกำเนิดขึ้นมาในช่วงนั้น ในยุคแรกๆ 

  • เนื้อร้องจะแสดงออกถึงความเจ็บปวด ขมขื่น เสียใจ โศกเศร้า 
  • ในยุคนั้นเพลงในอเมริกาจะเป็นเพลงแนวคันทรี่ การร้องเพลงของคนผิวดำมักจะเพี้ยน แต่ฟังแล้วกลับมีความไพเราะ

เป็นการบอกเล่าถึงความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมานที่ได้รับตอนเป็นทาส เรียกได้ว่าไม่มีเนื้อเพลงไหนที่พูดถึงอนาคตที่มีความสุข หรือกล่าวถึงความรักอันแสนหวานเลย เมื่อเวลาผ่านไปเพลงบลูส์ก็มีอิทธิพลต่อคนฟังมากขึ้นเรื่อยๆ และถูกยอมรับเป็นวงกล้างในสังคมชาวอเมริกัน จากที่เล่นแต่ในบาร์ ก็เริ่มมีคนผิวขาวหันมาฟังเพลงแนวนี้เพิ่มมากขึ้น จนในที่สุดก็มีนักดนตรีผิวขาวนำมาเล่นจนดังก้องโลกที่แฟนเพลงคุ้นชื่อกันดี อย่าง Eric Clapton, Stevie Ray Vaughan, Gary Moore

ถึงแม้ในอดีตต้นกำเนิดของเพลงบลูส์มาจากความเศร้าในชีวิต แต่เมื่อเวลาผ่านพัฒนาการของ เพลงบลูส์ก็เริ่มเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ยังมีการนำไปผสมเข้ากับดนตรีในรูปแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวร็อก หรือแนวริทึมแอนด์บลูส์ อย่างศิลปินในบ้านเราในช่วงยุค 90s ที่ได้นำดนตรีแนวบลูส์มาผสมกับดนตรียุคใหม่เช่น วงอินคา, นูโว หรือคาราบาว เป็นต้น ซึ่งหากสังเกตดีๆ จะมีหลายๆ เพลงที่มีกลิ่นอายของความเป็นบลูส์ผสมอยู่ด้วย


7. แนวดนตรีอะคูสติก (acoustic)

แนวเพลงสุดท้าย คือ ดนตรีอะคูสติก เป็นแนวเพลงที่ฟังสบายๆ สามารถฟังได้ทุกคน ซึ่งจังหวะของดนตรีอะคูสติกส่วนใหญ่จะเป็นจังหวะที่ช้าหรือปานกลาง ไม่เร็วมาก จังหวะไม่หนักหู ไม่เหมือนเพลงร็อกและเพลงเมทัล รับรองว่า ไม่ว่าคุณจะมีเพศใดหรืออยู่ในวัยไหนก็สามารถฟังได้อย่างสบายเลย แล้วก็เป็นแนวเพลงที่ใครๆ ฟังก็ต้องชอบอย่างแน่นอน

โดยการเล่นเพลงแนวอะคูสติกนั้น เพื่อนๆ เพียงใช้เครื่องดนตรีชิ้นเดียวอย่างกีตาร์โปร่ง หรือจะเป็นอะคูเลเล่ก็สามารถเล่นได้แล้ว หรือสามารถใช้เครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ อย่างเปียโน กลอง มาเสริมให้กับเพลง เพื่อเพิ่มความไพเราะเสนาะหูและน่าฟังขึ้นอีกด้วย

แถมยังช่วยให้จิตใจสงบและสบายต่อการฟังเพลงที่มีจังหวะช้าๆ ทำให้จิตใจของเราสงบมากขึ้น เหมาะสำหรับการฟังให้เกิดสมาธิ ยิ่งฟังทำนองเพลงอย่างเดียวโดยที่ไม่ต้องมีเนื้อร้องเลยได้ยิ่งดี รับรองเลยว่าฟังแล้วจิตใจของคุณจะสงบมากขึ้น เหมาะสำหรับการฟังในขณะที่กำลังอ่านหนังสือ หรือหากคุณนอนไม่หลับ คุณก็สามารถเลือกเพลงอะคูสติกได้เช่นเดียวกัน หวังว่าทุกคนจะชอบแนวนี้ เพราะเป็นแนวเพลงที่มากกว่าแหล่งให้ความบันเทิงจริงๆ 

……………………………………………………………………………………………………………..

อยากจะบอกว่า แนวเพลง แต่ละประเภทก็มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งการที่เรารู้จัก แนวเพลง ทำให้เราสามารถที่จะแยกแยะได้ว่าเราตรงก้ับแนวไหน ชอบแบบไหน ทำให้เวลาฟังเพลงนั้นไปในทิศทางเดียวกัน และซิปก็อดใจไม่ไหวที่จะไปฟังแนวที่ชอบ แถมยังหาฟังได้แบบทุกสตรีมมิ่งอีกด้วย ถ้าชาวซิปชอบแนวไหนมากที่สุดอย่าลืมมาบอกซิปด้วยน้า หรือมีแนวเพลงไหนที่ซิปพลาดไปก็มาบอกกันได้นะฮะ


อ้างอิงและเรียบเรียงข้อมูลจาก


เรื่องโดย : Krittawat Unsin

นักศึกษาฝึกงานตำแหน่ง Content Creator at Zipevent


Follow us for more interesting content!

ฝากถึงพี่น้อง แฟนๆ ที่เคารพรักทุกท่าน ฝากติดตามข่าวสารงานอีเว้นท์กับ Zipevent ในช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ตามนี้เลย จิ้มๆ

Comments

comments

Author

Content Creator at Zipevent จบมนุษย์แต่ใจอยากเรียนนิเทศน์ เริ่มต้นสู่การเป็น Multi-task สายคอนเทนต์ ชื่นชอบแฟชั่น รักการแต่งตัว มีความสุขเวลาได้สร้างงานไลฟ์สไตล์ งานรีวิว งานพากย์เสียง พร้อมครีเอทเรื่องราวสนุกๆ ให้ติดหูคนอ่าน