กลับมากับซิปอีเว้นท์อีกครั้ง และรอบนี้พิเศษกว่ารอบไหนๆ เพราะรวมมาให้ ที่เป็นอีเว้นท์ที่กำลังเกิด และกำลังจะเกิดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เท่านั้น บอกเลยว่าภายในหอศิลป์ไม่ได้มีเพียงแค่การแสดงงานศิลปะของศิลปินเพียงอย่างเดียวนะ แต่ครั้งนี้มีนิทรรศการเจ๋งๆ เกี่ยวกับของสะสมด้วย จะมีนิทรรศการไรบ้างไปดูกัน กับ BACC กับ 4 งานอีเว้นท์สร้างสรรค์เดือนกรกฎา ที่ครบ และจบในตัว


นิทรรศการศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 11
“คนไทยให้กันได้”

วันนี้ – 28 สิงหาคม 2565

นิทรรศการศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 11 ประจำปี พ.ศ. 2565 นำเสนอผลงานศิลปะที่ได้รับรางวัลและได้รับคัดเลือกให้ร่วมแสดง จำนวน 35 ชิ้นงาน จากการประกวดศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 11 ในหัวข้อ “คนไทยให้กันได้” ร่วมกับผลงานศิลปะที่ได้รับรางวัล จำนวน 21 ชิ้นงาน จากการประกวดศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 10 ในหัวข้อ “ในฝัน” เนื่องจากสถาณการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ซึ่งส่งผลให้ทางผู้จัดไม่สามารถจัดนิทรรศการศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 10 ตามกำหนดเดิมได้ ทำให้จำเป็นต้องนำผลงานจากกระประกวดทั้งสองปีมาจัดแสดงร่วมกันในปีนี้

นิทรรศการศิลปกรรมช้างเผือก เน้นการนำเสนอผลงานศิลปะแบบเหมือนจริงโดยไม่แบ่งแยกประเภทของผลงาน ผู้ชมงานจะสามารถสัมผัสได้ถึงความงามของงานศิลปะแบบเหมือนจริง (Realistic) และศิลปะรูปลักษณ์ (Figurative) ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวอย่างซื่อตรงจากแนวความคิดของศิลปินแต่ละคน โดยจะจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน – 28 สิงหาคม 2565 ณ ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร  

ทวี รัชนีกร: ปรากฏการณ์แห่งอุดมการณ์

วันนี้ – 11 กันยายน 2565

BACC

นิทรรศการ ทวี รัชนีกร: ปรากฏการณ์แห่งอุดมการณ์ รวบรวมผลงานศิลปะในรูปแบบต่าง ๆ เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม และสื่อผสม รวมกว่า 60 ผลงานของอาจารย์ทวี รัชนีกร ศิลปินไทยอายุ 88 ปี ผู้มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานสะท้อนปัญหาสังคม จนได้รับคัดเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี พ.ศ. 2548 ซึ่งทุกผลงานเปรียบเสมือนอัตชีวประวัติ ที่บันทึกเรื่องราวชีวิตของศิลปิน และขณะเดียวกันก็เป็นเหมือนจดหมายเหตุ บันทึกเหตุการณ์สำคัญที่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทย 

ในฐานะ ‘สัตว์สังคม’ ทวี รัชนีกร เฝ้ามองสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยไม่ได้กีดกันตัวเองออกไปเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ แต่อนุญาตให้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต ซึมลึกเข้าไปในความรู้สึก ทัศนคติ จิตใจ และจินตนาการ เรื่องราวทั้งหมดนั้นนำไปสู่การเรียนรู้และต่อสู้ จนเกิดเป็นทวี รัชนีกร ในบั้นปลาย ที่แม้นจะเลือกเพียงดื่มด่ำกับชีวิตอันสุขสงบได้ แต่กลับยังคงมุ่งมั่นสร้างสรรค์งานศิลปะที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณต่อไป ด้วยฝีแปรงที่ยังเข้มข้นและคงเส้นคงวา

ผลงานตลอดช่วงชีวิตของทวี รัชนีกร ซึ่งวิพากษ์เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงอุดมการณ์อันแน่วแน่ และความกล้าหาญที่จะพูดถึงมันอย่างไม่ประนีประนอม อย่างไรก็ตาม ผลงานทั้งหมดไม่ได้ถูกสร้างมา เพื่อแสดงเจตจำนงที่จะเปลี่ยนโลก หรือแสดงความยิ่งใหญ่ให้แผ่นดินต้องจารึก แต่สร้างขึ้นจากความจริงใจและความรู้สึกอันบริสุทธิ์ภายใน ที่รอให้ทวี รัชนีกร เป็นผู้ถ่ายทอดสุนทรียศาสตร์เหล่านั้นด้วยตัวเอง

ครอสโอเวอร์ ๒ : ผสาน

วันนี้ – 11 กันยายน 2565

BACC

“ชมสุดยอดผลงานศิลปะสมัยใหม่ที่หาชมได้ยาก จากคลังสะสมศิลปะขององค์กรและนักสะสมไทย” จากความสำเร็จของ Crossover : The Unveiled Collection นิทรรศการแรกของหอศิลปกรุงเทพฯ ที่รวบรวมผลงานศิลปกรรมของนักสะสมไทยและต่างชาติ จนสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวงการศิลปะไทย และทำให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการสะสมผลงานศิลปะอย่างกว้างขวาง เมื่อปี พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา

ทรรศการครั้งนี้ถ่ายทอดความสัมพันธ์ระหว่าง ศิลปะ-ศิลปิน-สิ่งแวดล้อม ผ่านการศึกษาผลงานศิลปะสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในอดีต โดยเลือกศึกษาในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านศิลปะไทยสมัยใหม่จาก พ.ศ. 2488 ยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 สู่ พ.ศ. 2543 วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง (ก่อนเข้าสู่สภาวะปรากฏการณ์ร่วมสมัย) คัดสรรผลงานที่เป็นตัวแทนแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของ 3 องค์ประกอบ

ครอสโอเวอร์ ๒ : ผสาน คัดสรรและนำเสนอผลงานศิลปะสะสมขององค์กรภาครัฐ เอกชน และนักสะสมไทยที่สอดคล้องกับประเด็นทางสิ่งแวดล้อม พื้นที่ธรรมชาติ บริบทเมือง สถานการณ์ความท้าทาย ความประทับใจ และมุมมองต่าง ๆ ในช่วงเวลาที่แตกต่างของประวัติศาสตร์ไทย 72 ผลงาน โดยแบ่งการจัดแสดงผลงานออกเป็น 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ทรรศนีย์ (Scenery), เชื่อ (Site of Beliefs), องศาภายใน (A Part of Mind), เหนือจริง (Surrealism), สลายรูป (The Nature in Abstraction), หน้าที่วิภาค (Social Criticism)

ครอสโอเวอร์ ๒ : ผสาน ได้รับความร่วมมือในการเอื้อเฟื้อผลงานจากองค์กรภาครัฐและเอกชน ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารทหารไทยธนชาต, ธนาคารยูโอบี, บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด, บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท หลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), มูลนิธิศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9, มูลนิธิธนาคารกรุงเทพ, มูลนิธิหอศิลป พีระศรี, สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน, หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

รวมไปถึงนักสะสมระดับบุคคล ได้แก่ คุณฐิติพงศ์ นวเลิศพร, คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล, คุณพิริยะ และคุณกรกมล วัชจิตพันธ์, คุณพงศ์ชิต เอครพานิช, คุณสัมพันธ์ มั่นการโชค, คุณเสริมคุณ คุณาวงศ์, คุณอัครวัฒน์ ฉันทแดนสุวรรณ และขอขอบคุณ คุณกิตติโชติ หริตวร, นพ. สมรัช หิรัญยะวิสิต และคุณกิตติภรณ์ ชาลีจันทร์

นิทรรศการเสียงจากกลุ่มชาติพันธุ์

9 กรกฎาคม 2565 – 31 กรกฎาคม 2565

BACC

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมด้วยกลุ่มศิลปิน เฮียร์แอนด์ฟาวด์ ศุภชัย เกศการุณกุล และ DuckUnit  ขอนำเสนอนิทรรศการเสียงจากกลุ่มชาติพันธุ์ Sound of the Soul ที่ว่าด้วยสำเนียง เสียง และเรื่องราวทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยที่ไม่ค่อยถูกได้ยิน โดยนิทรรศการนี้มีความมุ่งหมายที่จะลดระยะห่างของคำว่าเราและเขาให้ใกล้กันมากยิ่งขึ้น ผ่านการนำเสนอประเด็นของปัญหาความเหลื่อมล้ำที่กลุ่มชาติพันธุ์ได้พบ เรื่องราวความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมอันหลากหลาย รวมถึงโอกาสในการสร้างความเข้าใจและการเปิดโอกาสในการถ่ายเททางวัฒนธรรมและองค์ความรู้พื้นถิ่นเพื่อสร้างบทสนทนาร่วมกันต่อไป

นิทรรศการเสียงในครั้งนี้จะสื่อสารผ่านเสียง Visual Performance และองค์ประกอบที่เลือกสรรจากถิ่นที่อยู่อันเป็นบริบทแวดล้อมของกลุ่มชาติพันธุ์อันหลากหลาย อาทิ กลุ่มปกาเกอะญอ กลุ่มไทดำ กลุ่มไทกะเลิง กลุ่มกะเหรี่ยงโปว์ กลุ่มมูเซอ กลุ่มอาข่า กลุ่มอูรักลาโว้ย ฯลฯ เพื่อเป็นการเชื่อมมิติความหลากหลายดังกล่าวให้ผู้เข้าชมงานนิทรรศการได้เกิดความเข้าใจและได้สัมผัสถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย
 
นิทรรศการนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1. ปอกเปลือก – นำเสนอปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งส่งผลกระทบถึงตัวตนและการสูญหายทางวัฒนธรรม
2คลี่คลาย – นำเสนอความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทยผ่านเสียง อาทิเสียงดนตรี เสียงของธรรมชาติที่แวดล้อมในแต่ละพื้นที่ เสียงพูดในภาษาท้องถิ่น พร้อมกับเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับดนตรีและเสียงต่างๆ ในบริบทของพื้นที่
3 ขมวดปม – นำเสนอโอกาสและความเป็นไปได้ ภายใต้แนวคิดว่า “เมื่อเกิดความเข้าใจ กำแพงที่เรามีต่อกันอาจเป็นเพียงเรื่องสมมติ และการโอบรับความแตกต่างนั้นสามารถสร้างประโยชน์ได้มากกว่าที่คิด” 

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว บอกเลยว่านักล่างานอีเว้นท์ศิลปะไม่ควรพลาด กับทั้ง 4 งานอีเว้นท์สุดสร้างสรรค์ที่จัดขึ้นที่ BACC หรือ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นะ


ฝากถึงพี่น้อง แฟนๆ ที่เคารพรักทุกท่าน ฝากติดตามข่าวสารงานอีเว้นท์กับ Zipevent ในช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ตามนี้เลย จิ้มๆ

Comments

comments

Author

Nothing really goes away