เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 : กรุงเทพฯ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้วันที่ 26 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันจัดประชุมและนิทรรศการแห่งชาติ” เพื่อส่งเสริมการตระหนักรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญของอุตสหกรรมไมซ์ ยึดตามการเกิดงานแสดงสินค้าครั้งแรกของประเทศเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2425
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ได้เสนอให้กำหนดวันของอุตสาหกรรมไมซ์ขึ้นมา เรียกว่า “วันจัดประชุมและนิทรรศการแห่งชาติ” โดยอ้างอิงจากงานวิจัยที่ TCEB ร่วมดำเนินงานกับกองทุนส่งเสริมการจัดประชุมนานาชาติ
“การจัดแสดงสินค้าครั้งแรกของชาติจัดขึ้นวันที่ 26 เมษายน 2425 ด้วยพระราชปณิธานของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เพื่อเผยแพร่และส่งเสริมสินค้าไทยจากทั่วประเทศ และที่สำคัญคือจัดขึ้นกลางท้องสนามหลวง เป็นส่วนหนึ่งของการฉลองพระนครร้อยปี จึงนับว่าเป็นวันสำคัญ เพราะแม้จะผ่านมาเกือบ 140 ปี งานแสดงสินค้าทุกวันนี้ก็มีวัตถุประสงค์เดียวกัน”
การกำหนดวันสำคัญของชาติที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์จะช่วยเพิ่มความตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของอุตสาหกรรมไมซ์ที่มีต่อการพัฒนาประเทศมาอย่างยาวนานนับแต่อดีต แม้ในปัจจุบันการจัดประชุม การจัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการก็เป็นหนึ่งในกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล
การใช้กิจกรรมไมซ์ (MICE)ในรูปแบบต่างๆ ในอดีตถึงปัจจุบัน
นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันพบว่า มีการใช้กิจกรรมไมซ์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของชาติ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ยุค คือ ช่วงฟื้นฟูประเทศในตอนต้นรัตนโกสินทร์ (สมัยรัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 3) เป็นการประชุมและแสดงสินค้าเพื่อฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ ช่วงสยามสู่เวทีโลก (สมัยรัชกาลที่ 4 – สมัยรัชกาลที่ 8) เป็นปฐมบทสู่เวทีโลก ใช้การจัดประชุมและการแสดงสินค้าเพื่อความภาคภูมิ และปูทางสู่การแก้ไขสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมกับนานาประเทศ และช่วงที่สามคือความเป็นปึกแผ่นของอุตสาหกรรมไมซ์ (สมัยรัชกาลที่ 9 จนถึงปัจจุบัน) ก้าวเข้าสู่ไมซ์ยุคใหม่ ที่เกิดสมาคมภาคเอกชนต่างๆเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ
นโยบายของ TCEB
นายจิรุตถ์ กล่าวต่อว่า ไมซ์ในปัจจุบันขยายบทบาทไปในการสร้างสรรค์ และพัฒนาเศรษฐกิจ พร้อมทั้งมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ จากนโยบายของ TCEB ที่กระจายการพัฒนา และโอกาสของธุรกิจไมซ์ไปยังผู้ประกอบการ และชุมชนในไมซ์ซิตี้ 10 จังหวัด พร้อมทั้งประเทศไทยครองอันดับหนึ่งด้านการจัดประชุมนานาชาติของอาเซียน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 (ปี พ.ศ. 2559-2561) และเป็นประเทศที่มีการจัดประชุมนานาชาติมากที่สุดอันดับ 4 ของเอเชีย รองจากญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้
จากสถิติอุตสาหกรรมไมซ์ไทยนับจากการจัดตั้ง TCEB มา 16 ปี พบว่าประเทศไทยมีจำนวนนักเดินทางไมซ์จากทั้งในและต่างประเทศ 191,747,994 คน สร้างรายได้ให้กับประเทศ 1,756,739 ล้านบาท ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด 19 อุตสาหกรรมไมซ์ไทยสร้างรายได้ทางตรงและทางอ้อมต่อระบบเศรษฐกิจ 728,540 ล้านบาท และการจ้างงาน 426,616 อัตรา
“แม้ว่าโควิด 19 จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจทุกสาขารวมทั้งไมซ์ แต่การดำเนินงานของ TCEB ที่เน้นพัฒนาระบบ โครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาคนและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ทำให้มั่นใจได้ว่าประเทศไทยพร้อมแข่งขันทันทีเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง”
ฝากติดตามข่าวสารงานอีเว้นท์กับ Zipevent ในช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ตามนี้เลย
- Line: @Zipevent (อย่าลืมเติม @ ข้างหน้าด้วยนะคะ) หรือจิ้มไปที่ลิงก์นี้ได้เลย @Zipevent
- Instagram: @Zipevent
- Website: www.zipeventapp.com
- Twitter: @Zipevent
- Facebook: @Zipevent
ขอบคุณที่มาเนื้อหา และรูปภาพจาก เว็บไซต์ TCEB