Trending Now

หลายๆ ครั้งที่เราต้องเจอกับเหตุการณ์ที่เราไม่สามารถเข้าใจได้ ทำได้เพียงแค่รู้สึกไปพร้อมกับสิ่งๆ นั้นก็พอ เหมือนกับนิทรรศการ TRANSIENCE ของ จิรายุ ตันตระกูล ที่เขาเคยพูดไว้ว่า “ไม่ต้องมีคำอธิบายว่ารูปสื่อถึงอะไร เพราะรูปไม่ได้ทำไว้เพื่อให้เข้าใจ แต่มีไว้เพื่อให้รู้สึกถึง ความเข้าใจเป็นเรื่องของตรรกะ ส่วนความรู้สึกเป็นเรื่องของพลังงาน มันคล้ายกับการยืนดูความงามของหมู่เมฆ ไม่จำเป็นต้องถามฟ้าว่า เหตุใดจึงปั้นหมู่เมฆให้เป็นรูปนั้นรูปนี้ ยิ่งตั้งคำถามยิ่งห่างไกลจากการรู้สึกถึง ยิ่งรู้สึกยิ่งห่างจากการตั้งคำถาม ไม่มีสวย ไม่มีว่าไม่สวย มีแต่การยอมรับความเป็นจริงอย่างที่มันเป็น ไม่ใช่อย่างที่เราอยากให้เป็น ”

งานนามธรรมที่เกิดจากการรวมตัวกันของเนื้อสีและเม็ดทรายจำนวนมหาศาลเคลื่อนตัวเกาะกลุ่มผสานเข้าเป็นเนื้อเดียว ทั้งรุนแรงพุ่งพล่าน คืบคลานเนิบนาบ กระจัดกระจายแตกซ่านบนผืนผ้าใบ อณูของสีและเม็ดทรายเหล่านั้นแทนบันทึกภาวะ ณ ขณะหนึ่งของศิลปินในฐานะมนุษย์ที่กำลังแสวงหาความจริงของชีวิต

ช่วงเวลาคู่ขนานของชีวิตการเป็นนักแสดงตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมาของจิรายุ เขาสร้างพื้นที่ลับที่เปรียบเสมือนดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ในพื้นที่แห่งนี้เขาได้บ่มเพาะพลังบวกให้กับจิตใจ ร่างกาย และสติปัญญา ใช้เวลาอยู่กับการทบทวน ไตร่ตรองและบันทึกความคิด ความรู้สึกผ่านตัวอักษรและภาษาภาพ เขาได้ทุ่มเทแสวงหาหนทางแห่งปัญญาเพื่อสร้างภาวะสำนึกรู้ และได้แสดงออกภาวะ ณ ขณะเวลานั้นออกมาเป็นงานศิลปะในรูปแบบนามธรรม Abstract Expressionism ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นรูปแบบที่ศิลปินโต้ตอบได้อย่างอิสระและมีพลังที่สุดในเวลานี้

Abstract Expressionism ได้รับการบัญญัติขึ้นครั้งแรกที่ นิวยอร์ค อเมริกา ในช่วงปี 1940 เป็นแนวทางศิลปะที่ไม่ยึดติดในการแสดงรูปร่าง รูปทรง แต่เน้นการสำแดงอารมณ์อย่างตรงไปตรงมาตามสัญชาตญาณเหนือสิ่งอื่นใด Abstract Expressionism แบ่งเป็น 2 กระบวนการ คือ Action painting ที่เน้นการใช้ร่างกายขับเคลื่อนเป็นกลไกในการ สะบัด สาด ลงบนผืนผ้าใบ ศิลปินที่มีชื่อเสียง เช่น แจคสัน พอลลอค ( 1950 ) ลีเครสเนอร์ ( 1957 ) ถ่ายทอดอารมณ์แรงกระตุ้น ความเป็นจริงของสภาวะขณะนั้นที่ศิลปินรู้สึกได้ดีที่สุด
กระบวนการที่ 2 Color field painting เน้นการเคลื่อนตัวอย่างอิสระของสีในพื้นที่กว้างแนวระนาบ ทิ้งร่องรอยอย่างเป็นธรรมชาติด้วยพลังของมวลสีนั้นๆ เอง ศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลกเช่น คลิฟฟอร์ต สตีล ( 1948 ) โรเบริ์ต มาเธอร์เวล ( 1961 )

เมื่อได้เห็นผลงานงานนามธรรมในปี 2020 ของศิลปิน จิรายุ ตันตระกูล เหมือนได้เห็นการควบรวม 2 กระบวนการของ Abstract Expressionism เข้าไว้ด้วยกันได้อย่างกลมกลืน งานศิลปะทุกชิ้นนำทางด้วยปรัชญาหลักของการภาวนาปฏิบัติ ที่ศิลปินปฏิบัติเป็นวัตรเพื่อสำรวจสภาวะจิตใจ พัฒนาตนเอง เมื่อสำนึกรู้เข้าใจความรู้สึกในภาวะขณะนั้นแล้ว ศิลปินจึงพร้อมสร้างงานศิลปะของเขา ปลดปล่อยความรู้สึกนั้นด้วยเทคนิคที่หลากหลาย เช่น การสาดมวลสี ยิงธนูลูกโป่งสี การเขวี้ยงขว้างปา สร้างแรงปะทะฉับพลัน แต่ในขณะเดียวกันในพื้นที่บางส่วนก็ผ่อนคลายด้วยการปล่อยมวลสีและเม็ดทรายนั้นให้เคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติ สร้างองค์ประกอบระหว่างร่องรอยแห่งการปะทะอย่างรุนแรงกับความสงบนิ่งอย่างสมดุล

TRANSIENCE

ศิลปินเคยกล่าวไว้ว่า ในยุคที่โลกพัฒนาวิทยาการทุกสิ่ง แต่ดูเหมือนว่ามนุษย์จะเพิกเฉยต่อการพัฒนาตนเอง การภาวนาทำสมาธิใช้สติพิจารณาเหตุและผลของแรงกระทบที่เกิดขึ้นจากภายนอก เป็นไปเพื่อยอมรับความจริงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทำให้ศิลปินได้มองเห็นปัญหาเพื่อนำมาพัฒนาศักยภาพชีวิต และงานศิลปะที่เขาสร้างนั้นเป็นดั่งบันทึกเตือนใจที่ล้ำค่าแสดงผลลัพธ์แห่งการปฏิบัตินั้น จิตรกรรมนามธรรมร่วม 50 ชิ้นที่ศิลปินสร้างคือภาพแทนภาวะขณะของมนุษย์ที่เป็นอนัตตา เป็นบันทึกร่องรอยเชื่อมโยงของจิตสู่ทั่วสรรพางค์ร่างกาย ช่วงเวลา ช่วงชีวิตแต่ละภาวะ นอกจากถ่ายทอดเป็นภาษาภาพ ศิลปินยังจารึกเป็นภาษาเขียนไว้ในชื่องานแต่ละภาพด้วย …เพราะสงบนิ่งความจริงจึงปรากฏ, ยอมรับความธรรมดา, หยาบเข้าใจ ละเอียดรู้สึก เป็นต้น

จิรายุ ตันตระกูล
จิรายุ ตันตระกูล เป็นชาวไทยเชื้อสายปาทาน เกิดปี พ.ศ. 2532 เขาเติบโตและใช้ชีวิตมาในครอบครัวใหญ่ที่เต็มไปด้วยญาติพี่น้องหลายคน ครอบครัวใหญ่ที่อบอุ่นทำให้เขาได้ซึมซับและเรียนรู้การเห็นคุณค่าของชีวิตผู้อื่น จิรายุทุ่มเทกับชีวิตการทำงานในทุกด้านอย่างจริงจัง เขาเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เขาฝึกฝนในเส้นทางที่เขารักนั้นเปรียบดังเมล็ดพันธ์ที่จะงอกงามเบ่งบานได้ในอนาคต งานศิลปะเป็นศาสตร์ที่จิรายุให้ความสำคัญควบคู่กับการภาวนาปฏิบัติธรรม และนอกจากงานจิตรกรรมแล้วเขายังเริ่มเรียนรู้งานประติมากรรม ศิลปะ Interactive Art และตั้งใจเดินหน้าในเส้นทางสายศิลปินอาชีพอย่างจริงจัง

  • Joyman Gallery
  • 28 กุมภาพันธ์ – 18 เมษายน 2564
  • เปิดทำการทุกวัน
  • 11.00 – 20.00 น.

ใครที่อยากจะลองไปปล่อยตัวเองกับความรู้สึกก็ไปเจอกันได้เลยที่ นิทรรศการ TRANSIENCE ที่ไม่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับงานศิลปะ แต่แค่รู้สึกก็เพียงพอ 🙂


ฝากติดตามข่าวสารงานอีเว้นท์กับ Zipevent ในช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ตามนี้เลย 

  • Line: @Zipevent (อย่าลืมเติม @ ข้างหน้าด้วยนะคะ) หรือจิ้มไปที่ลิงก์นี้ได้เลย @Zipevent
  • Instagram: @Zipevent
  • Website: www.zipeventapp.com
  • Twitter: @Zipevent
  • Facebook: @Zipevent

Comments

comments

Author