หากว่าเราทำจานแตกหรือว่าบิ่น พวกเราคงจะไม่ซ่อมแซมและโยนพวกมันทิ้งไป ยิ่งในประเทศไทยของเราที่มีความเชื่อว่าเราจะไม่เก็บของที่มีตำหนิเพราะถือเป็นลางบอกเหตุล่วงหน้าว่าจะเกิดสิ่งไม่ดีขึ้น แต่กลับกันคนญี่ปุ่นก็มีความเชื่อเกี่ยวกับภาชนะที่มีตำหนิอย่าง คินสึงิ (Kintsugi) ที่เป็นศิลปะแห่งการซ่อมแซมภาชนะที่บิ่นแตกด้วยรักทองของชาวญี่ปุ่น เพราะพวกเขาเชื่อว่าถ้วยชามที่บิ่นแตกนั้นไม่ควรทิ้งขว้าง แต่ควรซ่อมแซมด้วยรักทองเพื่อให้พวกมันสามารถนำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง
ตำนานที่ถูกเล่าต่อกันมาของจุดเริ่มต้นของศิลปะคินสึงิเกิดขึ้นช่วงศตวรรษที่ 15 ท่านโชกุนอะชิกะงะ โยะชิมะซะ (Ashikaga Yoshimasa) ได้ส่งถ้วยชาใบโปรดที่แตกไปที่ประเทศจีนเพื่อซ่อมแซม เมื่อถ้วยชาใบนั้นได้ส่งกลับมาก็พบว่าได้รับการซ่อมแซมแบบลวกๆ เพียงแค่ใช้ลวดเหล็กยึดไว้ ซึ่งไม่มีความสวยงามและไม่สมกับฐานะของเขาเอาซะเลย ช่างฝีมือของเขาจึงมองหาวิธีซ่อมแซมถ้วยชาให้สวยงามจนกลายเป็น คินสึงิ อย่างที่เราได้เห็นในปัจจุบัน
นอกจากนี้ศิลปะคินสึงึยังสามารถนำมาประยุกต์ออกมาเป็นแนวคิดได้อีกด้วย ซึ่งคล้ายคลึงกับแนวคิดแบบ Wabi-sabi (วาบา ซาบิ) ที่เป็นการใช้ชีวิตแบบไม่สมบูรณ์แบบ เน้นความเรียบง่าย และยอมกับความผิดพลาดของตัวเอง ซึ่งเหมือนกับรอยแตกของภาชนะที่ช่วยสะท้อนให้เราได้เห็นถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้นและยอมรับมัน แล้วเดินหน้าใช้ชีวิตกันต่อไป 🙂
เมื่อความไม่สมบูรณ์ถูกหล่อหลอมรวมเข้ากับแนวคิดของการใช้ชีวิต จนกลายเป็นความสวยงามทางศิลปะอย่าง “คินสึงิ” ที่เรียกได้ว่าเป็นความสวยงามจากความไม่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คินสึงิได้ถูกสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน จนหลายๆ คนตกตะกอนความคิดจนสามารถนำไปเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตได้
แม้ว่าการซ่อมแซมให้สิ่งของภาชนะกลับมาเหมือนเดิมนั้นจะเป็นไปไม่ได้ แต่ในอีกนัยหนึ่งการซ่อมแซมคือการ “คืน” บางสิ่งให้กลับมา และ “เติม” บางอย่างที่จำเป็นเพื่อให้ดำรงอยู่ได้ การซ่อมแซมอาจต้องใช้เวลา ใช้แรงงานเสียยิ่งกว่าการสร้างขึ้นใหม่ ในขณะเดียวกันร่องรอยที่ขาดหายหรือรอยแตกร้าวจากการซ่อมนั้นจะยังคงอยู่
สุมนัสยา โวหาร ในฐานะนักออกแบบที่ไม่ได้สนใจเพียงการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้มีความงาม และสอดคล้องกับการใช้งาน แต่การศึกษาภูมิปัญญาการใช้ยางรัก และเทคนิคคินสึงิ (Kintsugi) ศิลปะการซ่อมภาชนะของญี่ปุ่นที่มีมาแต่โบราณอย่างจริงจังได้ทำให้เธอค้นพบการสร้างสรรค์ที่ไม่ได้เกิดจากการ “สร้าง” แต่มาจากการ “ซ่อม” ที่มีความซับซ้อนไม่ต่างจากการสร้างขึ้นใหม่ การประยุกต์เทคนิคคินสึงิ ค้นหาวิธีการประสานวัสดุที่แตกต่างนั้นทำให้การซ่อมแซมสิ่งของเริ่มเปิดเผยความซับซ้อนของชีวิต สภาวะจิต และการดำรงอยู่
Rak: an assemble collective คือนิทรรศการเดี่ยวของ สุมนัสยา โวหาร เมื่อการซ่อมแซมสิ่งของได้กลายเป็นงานศิลปะของการผสมผสาน ผู้ชมสามารถสังเกตได้ถึงความละเอียดอ่อนที่ทับซ้อนอยู่บนความหมายของวัตถุแต่ละชนิด สิ่งเหล่านี้แสดงออกมาจนดูราวกับบทสนทนาระหว่างการเดินทางในห้วงเวลาของวัตถุที่เปรียบกับชีวิตของคนเราที่เต็มไปด้วยอุปสรรค ประสบการณ์ ความผิดพลาด การแก้ไข เฉกเช่นสภาพจิตใจของเรานั้นเองที่ยิ่งซ่อมก็กลับยิ่งสมบูรณ์ขึ้นทุกขณะ
สามารถชมนิทรรศการ Rak: an assemble collective ได้ที่ S.A.C. Subhashok The Arts Centre สุขุมวิท 39
- Collector’s Lounge ชั้น 1 อาคาร Gallery
- 10 ตุลาคม – 22 พฤศจิกายน 2563
- เวลา 10.00 – 18.00 น.
- เปิดให้เข้าชมทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์)
ไปดูกันว่าความสวยงามที่ไม่สมบูรณ์แบบอย่าง คินสึกิ ที่ สุมนัสยา โวหา ได้ถ่ายทอดผ่านผลงานของเธอเองจะออกมาเป็นอย่างไร ไปเจอกันได้เลยที่นิทรรศการ Rak: an assemble collective ส่วนใครที่ไม่อยากพลาดกับบทความดีๆ แบบนี้ก็อย่างลืมติดตามซิปอีเว้นท์กันไว้ด้วยนะทุกคนน
ฝากติดตามข่าวสารงานอีเว้นท์กับ Zipevent ในช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ตามนี้เลย
- Line: @Zipevent (อย่าลืมเติม @ ข้างหน้าด้วยนะคะ) หรือจิ้มไปที่ลิงก์นี้ได้เลย @Zipevent
- Instagram: @Zipevent
- Website: www.zipeventapp.com
- Twitter: @Zipevent
- Facebook: @Zipevent