ก่อนอื่นต้องขอสารภาพก่อนว่าเราเป็น Developer คนนึงที่ไม่เคยรู้จักงาน CREATIVE TALK CONFERENCE มาก่อนเลย แต่จู่ๆ วันหนึ่งพี่ในทีมก็เดินมาบอกว่าจะให้เราเป็นตัวตายตัวแทนของทีม Dev ไปงาน CTC2020 รวมทั้งเขียนบทความด้วย… ซึ่งเมื่อเราเปิดดูรายละเอียด.. ก็เหมือนเป็นงานที่รวบรวม Speaker มากมาย มีทั้ง Creative, Marketing, Innovation, Entrepreneurship, และ People อ่าว… แล้ว Developer ล่ะ?
เรา: “อ่าวพี่.. มันไม่ใช่งาน Dev นิ..”
พี่: “ทีมอื่นเขามีคนไปครบแล้ว เลยส่ง Dev ไปเป็นตัวแทนคนนึง”
เรา: ชะ อ่าว… (เอาวะไหนๆ ก็ว่าง.. ไปก็ไป..)
ตัดภาพมาที่ 3 วันต่อมา ท่ามกลางฝุ่น PM 2.5 อันแสนมืดมน เราก็ได้หอบสังขารพาตัวเองจากลาดพร้าวสู่ไบเทคบางนา
ด้วยความที่เราทำการบ้านมา ก็เลยโหลด Appplication CTC2020 ไว้จัด Session ที่อยากเข้าเรียบร้อย แล้วก็ตรงดิ่งเข้าสู่งานกันเลย
09:00 Opening Remark
หลังจากเช็คอินหน้างานเรียบร้อยแล้ว เราก็เดินไปเจอน้ำกระป๋องแจกฟรี แน่นอนว่าจึงไม่พลาดที่จะหยิบติดไม้ติดมือก่อนเข้า Main Stage พร้อมความสงสัย ทำไมไม่ใส่ขวดหว่า….
ย้ำอีกครั้งมันคือน้ำเปล่านะ ไม่ใช่เครื่องดื่มมึนเมาแน่นอน
ซึ่งเราก็ได้รับคำตอบในช่วงเปิดงานว่า เหตุที่ใช้กระป๋องอะลูมิเนียม เพราะมันสามารถนำมารีไซเคิลได้ถึง 100% ต่างจากขวดน้ำพลาสติกนั่นเอง
กลับเข้าประเด็น ในช่วง Opening Remark คุณเก่ง สิทธิพงศ์ ผู้ก่อตั้ง Creative talks conference ก็ได้ขึ้นมากล่าวเปิดงานในธีม “Trends and Conversations of the new Decade” ที่ต้องการให้ทุกคนมาสนทนา ตั้งคำถาม พูดคุย ถามตอบข้อสงสัยเพื่อที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ กัน โดยคุณเก่งได้กล่าวถึง Curious หรือความสงสัยไว้ว่าได้ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ
“Curious -> Questions -> Answers -> New Exploration
Curiosity -> Ask -> Listen -> Learn”
พร้อมทั้งได้กล่าวถึง Clara Ma ผู้ซึ่งเคยชนะเลิศการตั้งชื่อยานโรเวอร์รุ่นพี่ หรือยาน Curiosity ที่ทุกวันนี้ยังขับเคลื่อนทำหน้าที่สำรวจอยู่บนผิวดาวอังคาร โดย Clara Ma เคยกล่าวไว้ว่า
Curiosity is such a powerful force. Without it, we wouldn’t be who we are today. Curiosity is the passion that drives us through our everyday lives. We have become explorers and scientists with our need to ask questions and to wonder.
ความสงสัย เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ ถ้าปราศจากความสงสัย เราก็ไม่เป็นเราในทุกวันนี้ ความสงสัยทำให้เรามีแรงที่จะดำเนินชีวิตในทุกๆ วัน ทำให้เราเป็นนักค้นคว้า เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้วยการตั้งคำถามและความใฝ่รู้
Clara Ma
10:00 Thailand Disruption
มาต่อกันที่ Vision Stage โดยใน Session นี้มี Speaker 3 ท่านด้วยกัน ได้แก่ ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม คุณชินาวุธ ชินะประยูร และคุณรังสรรค์ พรมปรนะสิทธิ์ ซึ่งได้มาพูดคุยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของโลกกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย
ใน Session นี้ส่วนมากจะเป็นการถกประเด็น “Perspective on Disruption”
ซึ่งพูดคุยเกี่ยวกับการที่หลายๆ Product ที่คนไทยคิดค้นไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะอาจมาจากการที่บริษัทไม่กล้าจะเปลี่ยนแปลง หรือเป็นเพราะคนไทยเป็นผู้บริโภคที่ดีเกินไป จนเลือกที่จะอุดหนุน Product จากต่างประเทศที่มีความสมบูรณ์มากกว่า Product ที่คนไทยได้คิดค้นเอง และนำมาเปรียบเทียบกัน ทั้งๆ ที่ระยะเวลาหรือทุนในการพัฒนานั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งอาจเหมือนการที่คนไทยไม่ค่อยให้โอกาส Product ที่มาจากประเทศตนเอง ผู้พัฒนาหลายเจ้าจึงไม่สามารถเติบโตต่อไปได้เท่าที่ควร ทั้งนี้ เราคงต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเราเองแล้วล่ะ ว่าเราได้ให้โอกาสคนไทยด้วยกันเองรึยัง?
11:00 How Social Listening Makes Your Customer Happy
Session ต่อมาก็ได้เจอกับคุณกล้า ตั้งสุวรรณ CEO บริษัท Wisesight มาเป็น Speaker ซึ่งมีการพูดเกี่ยวกับการฟังกระแสบน Social Media ว่าจะช่วยทำให้ลูกค้าประทับใจในแบรนด์คุณมากขึ้นได้อย่างไร
โดยเริ่มจากการยก KANO Model มาอธิบายระดับความพึงพอใจของลูกค้า
ต่อจากนั้นได้มีการพูด Case Study ต่างๆ ที่เกิดจากกระแส Social และส่งผลต่อธุรกิจต่างๆ เช่น
การเปรียบเทียบสถานการณ์ที่ธนาคารสองแห่งเกิดระบบล่มเหมือนกัน แต่ธนาคาร A ไม่มีการตอบข้อสงสัยหรือแจ้งเหตุใดๆ ที่ได้เกิดขึ้นกับระบบตนเองแก่ลูกค้า ส่งผลให้เกิดกระแส Social ทางลบกับธนาคาร A เป็นจำนวนมาก แต่ธนาคาร B มีการแจ้งข้อผิดพลาดในทันทีหลังจากเกิดเหตุ กลับกลายเป็นว่า ธนาคาร B กลับมีกระแสตอบรับทาง Social ไปในทางบวกมากกว่าธนาคาร A
เคสถัดมาเกี่ยวกับการที่มีคนรีวิวเครื่องสำอางยี่ห้อหนึ่ง แต่เพราะการรีวิวที่มีจำนวนมากเกินไปในรูปแบบเดียวกัน เลยส่งผลให้เกิดความสงสัย ว่าแบรนด์เครื่องสำอางดังกล่าวได้ทำการจ้างรีวิว แต่ขณะเดียวกัน ถ้าแบรนด์ไหนถูกรีวิวสินค้าและแบรนด์นั้นได้ทำการขอบคุณผู้รีวิวบน Social จะทำให้กระแสบน Social เป็นไปในทางบวกซะมากกว่า
การโฆษณารถยี่ห้อหนึ่ง ที่เหมือนมีกระแสบน Social ที่ไม่เป็นที่พึงพอใจกับดีไซน์ ทำให้ทางบริษัทมีการปรับปรุงบางจุด และโปรโมทจุดเด่นของรถรุ่นนั้นที่แตกต่างจากรุ่นอื่น รวมถึงแก้ไขโปรโมชั่น ทำให้กระแสบน Social กลับมาเป็นด้านบวก
ต่อมาได้มีการยกตัวอย่างโฆษณาของร้านอาหารแบรนด์หนึ่งที่ได้จัดโปรโมชั่นตามกระแสที่บน Social เรียกร้อง เช่น ร้านอาหารแบรนด์หนึ่งที่คนต้องการโต๊ะสำหรับกินคนเดียวโดยไม่ต้องไปนั่งบนโต๊ะใหญ่ แบรนด์นั้นก็ได้ตอบรับกระแสโดยปรับปรุงบางสาขาให้มีที่นั่งสำหรับกินคนเดียว
ซึ่งทำให้ได้ข้อคิดว่า ความพึงพอใจของลูกค้าจะไม่ลดลง มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้น เพราะเมื่อมีใครสนองความต้องการลูกค้าในรูปแบบใหม่ๆ ความพึงพอใจลูกค้าก็จะเพิ่มขึ้น จึงต้องมีการสนองความต้องการลูกค้าแบบใหม่ๆ อยู่เสมอ นอกจากนี้ ลูกค้ายังอยู่ในทุกๆ ที่ ซึ่งคู่แข่งสามารถทำทุกอย่างเพื่อเข้าถึงลูกค้าได้อยู่ตลอดเวลา
14:00 How to Deal with New Generation Workforce in
Open Talent Economy 2020
ในส่วนของ Session นี้ก็ได้คุณขจร เจียรนัยพานิชย์ มาเป็น Speaker และเนื่องจากเรามาช้า Session นี้จึงเป็น 1 ในหลาย Session ที่มีผู้คนคับคั่งจนต้องยืนฟัง ซึ่งคุณขจรได้เล่าประสบการณ์ของการทำงานกับเด็กยุคใหม่ภายในองค์กร รวมถึงปัญหาต่างๆ ที่เคยพบเจอ เมื่อวัฒนธรรมองค์กรไม่ได้เป็นเพียงแค่วัตถุหรือสิ่งของที่มีราคาในที่ทำงาน หรือดูน่าหลงใหลเพื่อให้คนอยากเข้ามาทำงานด้วย แต่เป็นการสนทนา เพื่อให้เข้าใจพนักงาน เข้าใจความแตกต่าง รับรู้ความต้องการของกันและกัน ซึ่ง Session นี้อาจทำให้หลายองค์กรต้องกลับมาตั้งคำถามว่า ที่เด็กยุคใหม่เปลี่ยนงานบ่อย เพราะเขาไม่ทนงานที่ทำ หรือเพราะองค์กรนั้นไม่ได้ใส่ใจกับพนักงานตนเองมากพอ?
16:00 How Saving the World Can Save the Brand
ตอนนี้ก็มาถึง Session สุดท้าย (ที่ผมนำมาแชร์) แล้ว โดยเป็นเรื่องรักโลกและสิ่งแวดล้อม ใน Session นี้ได้ Speaker มาพูด 2 ท่านด้วยกัน ได้แก่ คุณธนบูรณ สมบูรณ์ และคุณรัฐวุฒิ ชัยวงศ์ขจร ทั้งคู่ได้พูดเกี่ยวกับการตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เทรนด์ แต่มันคือ “โอกาส” ที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้แบรนด์ อีกทั้งยังสามารถช่วยโลกไปในตัวได้ด้วย เช่น
Gracz บริษัทที่ทำภาชนะไบโอจากชานอ้อย ที่มียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากการที่สังคมเริ่มตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
Carenation บริษัทที่ทำเกี่ยวกับพวงหรีดกระดาษรีไซเคิล ที่นอกจากคำนึงด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็ยังนำรายได้จากยอดขายไปบริจาคตามมูลนิธิต่างๆ ตามที่ลูกค้าต้องการหรือได้เลือกไว้อีกด้วย
อินทนิล ร้านกาแฟชื่อดังที่ใช้ Biodegradable Plastic มาใช้ทำแก้วที่สามารถย่อยสลายในธรรมชาติได้
ทั้งนี้ผู้บริโภคไม่ได้มองหาแบรนด์ที่ทำกำไรมากที่สุด แต่เป็นแบรนด์ที่ตอบแทนผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมมากที่สุด
เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว การที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยแบรนด์เรา เราควรที่จะจริงใจ เข้าใจ และร่วมใจ ซึ่งมีประโยคนึงที่ผมชอบใน Session นี้ คือ “โลกเปลี่ยนเพราะลงมือ ไม่ได้เปลี่ยนเพราะคำพูด” หลังจากนี้เราคงต้องมามองดูตัวเองกันแล้วล่ะ ว่าเราใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากแค่ไหน
เอาเข้าจริงๆ หลังจากที่ได้มีโอกาสไปงาน CTC2020 ผมคงต้องเปลี่ยนความคิดที่เคยมองว่างาน Creative Talk Conference เนี่ยเป็นแค่ของชาว Creative เพราะจริงๆ แล้วสำหรับผม งานนี้มันเหมาะกับคนทุกสายงานจริงๆ นะ โดยเฉพาะคนที่กำลังเจอกำแพงในการพัฒนาตนเอง คนที่กำลังสับสนกับอนาคตตนเอง หรือคนที่ต้องการแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต อาจพูดง่ายๆ ได้ว่า งานนี้เป็นงานที่เหมาะกับคนทุกเพศ(และเกือบ)ทุกวัยก็คงไม่เกินความเป็นจริง
ก่อนตัดจบ สำหรับคนที่พลาดงาน CTC2020 หรือพลาดฟัง Session ไหน ทางงาน CTC2020 เขามีกลุ่มสำหรับแชร์เนื้อหาภายในงานด้วยนะครับ ไปร่วมกันอ่านและแบ่งปันความรู้กันได้ที่
CTC นักจด: https://www.facebook.com/groups/CTCLecture/
ด้วยความที่ผมเป็นมือใหม่ หากมีเนื้อหาใดที่มีความผิดพลาด ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ แล้วพบกันในโอกาสหน้าครับ
Written by Sitthinon Chanaritthichai
ฝากติดตามข่าวสารงานอีเว้นท์กับ Zipevent ในช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ตามนี้เลย Line: @Zipevent (อย่าลืมเติม @ ข้างหน้าด้วยนะคะ)
หรือจิ้มไปที่ลิงก์นี้ได้เลย @Zipevent
Instagram: @Zipevent
Website: www.zipeventapp.com
Twitter: @Zipevent
Facebook: @Zipevent