หลายๆ คนอาจจะแปลกใจว่าทำไมช่วงนี้ Zipevent พาไปพิพิธภัณฑ์บ่อยจัง ตั้งแต่เชียงใหม่แล้ว วันนี้ยังจะพาไป พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า อีก ซึ่งซิปอยากแจกแจงว่า ในส่วนของเนื้อหาภายในพิพิธภัณฑ์นั้น ทางทีมมองว่าเป็นนิทรรศการถาวร มีการปรับปรุง อัพเดทบ้าง แต่ยังคงมีอยู่ ซึ่งเจอในหลายๆ พิพิธภัณฑ์ อีกประเภทหนึ่งคือ นิทรรศการชั่วคราว ที่จัดที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือมีทั้งส่วนนิทรรศการถาวร และส่วนนิทรรศการชั่วคราว เช่น มิวเซียมสยาม เป็นต้น
รู้จักกับ พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า
“โครงการพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า” เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อแสดงให้เห็นหลักการคิด วิธีการทรงงานและกระบวนการค้นหาคำตอบ ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงนำไปแก้ปัญหา หรือพระราชทานแก่พสกนิกรในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร
ตลอดจนเป็นแบบอย่างแก่ผู้สนใจชาวต่างประเทศ และเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านความเข้าใจในความสำคัญและปัญหาของระบบนิเวศ การบริหารจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกับระบบนิเวศธรรมชาติอย่างยั่งยืน
พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า จึงเอื้อประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของประชาชนชาวไทยอย่างลึกซึ้ง และกว้างขวาง ในการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนัก ในบทบาทความสัมพันธ์ของระบบนิเวศที่สำคัญของโลกและของประเทศไทย อันจะนำไปสู่การมีจิตสำนึกในการรักษา อนุรักษ์ระบบนิเวศ และเตรียมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างรู้เท่าทัน ตามแนวคิดและวิธีการทรงงานต้นแบบจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
พระมหากษัตริย์นักพัฒนา การอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน
นิทรรศการพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า จัดแสดงภายใต้หัวข้อหลัก “พระมหากษัตริย์นักพัฒนา การอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน” อันประกอบไปด้วยสาระหลักต่อไปนี้
- อิทธิพลของระบบสุริยะ โลกและปัจจัยต่าง ๆ ที่กำหนดความแตกต่างของระบบนิเวศในโลก
- หลักการพื้นฐาน ความสัมพันธ์ ความสมดุล พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนปัญหา ของระบบนิเวศต่าง ๆ ของโลกและประเทศไทย
- ความสัมพันธ์และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ จากกิจกรรมการดำรงชีพของมนุษย์ ตั้งแต่ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต
- หลักการ วิธีการทรงงาน ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ในการศึกษา ค้นหาคำตอบ นำไปสู่ การแก้ไขปัญหาการประกอบอาชีพของประชาชน และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
- การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
การจัดแสดงนิทรรศการ ประกอบด้วยส่วนจัดแสดงหลัก 6 ส่วน ได้แก่
ส่วนที่ 1 โลกและการปรับตัวของสิ่งมีชีวิต
นำเสนอเกี่ยวกับกำเนิดความเป็นมาของโลก อิทธิพลขององค์ประกอบต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอก โลก ที่ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตและวิวัฒนาการ การปรับตัวของสิ่งมีชีวิตเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในระบบนิเวศต่าง ๆ ของโลกที่แตกต่างกัน ประกอบด้วย
BIGBANG
สรรพชีวิตบนโลกเป็นผลสืบเนื่องมาจากการระเบิดครั้งใหญ่หรือ Big Bang ซึ่งก่อให้เกิดจักรวาล ระบบสุริยะ และโลกของเรา
SHELTER
กว่าโลกจะกลายมาเป็น “บ้าน” ที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตนั้น ได้ผ่านวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ มากมาย เช่น การก่อตัวและการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก
ซึ่งทำให้เกิดสภาพภูมิประเทศแบบต่างๆ วัฏจักรของน้ำที่ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของน้ำภายในโลก ลักษณะ ชั้นบรรยากาศ อุณหภูมิ กระแสลม กระแสน้ำ ฯลฯ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้
เอื้อให้สิ่งมีชีวิตกำเนิดขึ้น ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีการปรับตัวให้เข้ากับลักษณะทางกายภาพของโลกที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่
LIFE
ชีวิตบนโลกเริ่มต้นขึ้นจากการเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ต่อมาอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมส่งผลให้สิ่งมีชีวิตปรับตัวจนมีรูปแบบที่ซับซ้อนขึ้นและถ่ายทอดลักษณะต่างๆ สู่ลูกหลานผ่านดีเอ็นเอ
EVOLUTION AND MASS EXTINCTION
สิ่งมีชีวิตต้องพยายามปรับตัวเพื่ออยู่รอดได้โดยสะท้อนให้เห็นผ่านทางรูปแบบของวิวัฒนาการและระหว่างทางได้เผชิญกับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่หลายครั้ง ร่องรอยดังกล่าวนี้ปรากฏให้เห็นผ่านซากดึกดำบรรพ์ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้นำมาศึกษาเพื่อบอกเล่าถึงความเป็นมาของโลกและสิ่งมีชีวิต
HUMAN ODYSSEY
ในห้วงเวลาแห่งวิวัฒนาการอันยาวนานของสิ่งมีชีวิต สายพันธุ์มนุษย์ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อใด? มีชีวิตและความเป็นอยู่อย่างไร? และเผ่าพันธุ์ของเราจะเป็นอย่างไรต่อไป?
เป็นคำถามที่สำคัญที่สามารถค้นหาคำตอบได้จากส่วนจัดแสดงนี้ ผ่านตัวอย่างมนุษย์สายพันธุ์หลักๆ ที่แสดงถึงวิวัฒนาการทางกายภาพ จนกระทั่งมนุษย์สามารถยืนตัวตรง
เดินสองขาได้อย่างมั่นคง รวมไปถึงการใช้มือที่มีลักษณะพิเศษ และสติปัญญาในการสร้างสรรค์วัฒนธรรม เพื่อปรับตัวและอยู่รอดตามสภาพแวดล้อมของโลกที่แตกต่างกันออกไป
ส่วนที่ 2 ระบบนิเวศและความหลากหลาย
ดาวเคราะห์โลก ประกอบด้วยระบบนิเวศที่หลากหลาย แตกต่างกันไปตามสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศ มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน เกิดขึ้นเป็นระบบใหญ่ ซึ่งก็คือโลกของเรา ความสัมพันธ์และความสมดุลระหว่าง สิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมของระบบนิเวศแต่ละระบบ ประกอบด้วย ระบบนิเวศเขตหนาว เขตอบอุ่น ทะเลทราย และป่าเขตร้อน ยังนำไปสู่ระดับความสมดุลของระบบนิเวศและของโลกด้วย รายละเอียดแต่ละส่วนได้แก่
ANTARCTICA
เป็นชีวนิเวศบริเวณขั้วโลกใต้ที่ไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่อย่างถาวร ยกเว้นนักวิทยาศาสตร์ที่เข้าไปศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโลกและสิ่งมีชีวิต เนื่องจากมีความหนาวเย็นมาก อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ระหว่าง -49 ถึง -89 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตามสิ่งมีชีวิตบางชนิดทั้งพืชและสัตว์ที่สามารถปรับตัวและดำรงชีวิตอยู่ได้ท่ามกลางสภาพอากาศอันรุนแรงนี้
แม้ Antarctica ไม่มีมนุษย์อาศัยถาวร แต่ผลกระทบจากพฤติกรรมของมนุษย์จากชีวนิเวศอื่นก็สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นได้โดยเฉพาะปัญหารอยรั่วของชั้นโอโซน
ARCTIC
เป็นชีวนิเวศที่เต็มไปด้วยน้ำแข็งและเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ที่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมแบบนี้ได้ เช่น วาฬ หมีขาว วอลรัส แมวน้ำ รวมทั้งมนุษย์ เช่น ชาวอินูอิท (Inuit) ซึ่งสร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราวจากก้อนน้ำแข็ง เรียกว่า Igloo ปัจจุบัน Arctic เป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน ทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำแข็งละลาย
TUNDRA
เป็นชีวนิเวศที่มีความหนาวเย็น มีช่วงอากาศอบอุ่นสั้นมาก ประมาณ 50-60 วัน พืชส่วนใหญ่จึงเป็นพืชขนาดเล็ก เช่น หญ้า มอสส์ ดอกไม้ต่างๆ มีมนุษย์อาศัยอยู่หลายเผ่าพันธุ์ เช่น ชาว Nuatak, ชาว Yupik ซึ่งดำรงชีพโดยการเลี้ยงเรนเดียร์ ความโดดเด่นที่ไม่เหมือนชีวนิเวศเขตอื่นคือการเกิดขึ้นของฝูงยุงนับล้านตัวในช่วงฤดูร้อน
TAIGA
ความโดดเด่นของชีวนิเวศเขตนี้ คือแนวป่าสนขนาดใหญ่ เป็นชีวนิเวศบนบกที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศแบบสุดโต่งคือมีฤดูหนาวยาวนานมีฤดูร้อนช่วงสั้นๆ เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาสภาพแวดล้อม เช่น ไฟป่า การบุกรุกจากแมลง เป็นต้น
DESERT
มีสภาพภูมิอากาศแบบสุดโต่งในอีกลักษณะหนึ่ง คือเต็มไปด้วยความแห้งแล้ง สิ่งมีชีวิตต่างๆ จึงต้องมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เช่น อาศัยในหลุมหรือรู การเปลี่ยนใบให้เป็นหนามของต้นกระบองเพชร เป็นต้น
TEMPERATE
ความโดดเด่นของชีวนิเวศเขตนี้ คือการมี 4 ฤดูกาล ได้แก่ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว การปรับตัวของสิ่งมีชีวิตจึงเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ส่วนจัดแสดงนี้นำเสนอผ่าน 5 พื้นที่ ได้แก่ Central Europe, North America, South America, Australia และ East Asia
TROPICAL
เป็นชีวนิเวศที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในทุกลำดับความสูงของป่า แสงแดดและน้ำฝนมีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และมีความแตกต่างกัน นำเสนอผ่าน 5 พื้นที่สำคัญ ได้แก่ Africa, Madagascar, Neotropic, Southeast Asia และ Papua New Guinea
TAHILAND ECOSYSTEM SERVICE : SOIL
ดิน เป็นทุนทางธรรมชาติที่สำคัญ ส่วนนิทรรศการนี้ จึงเป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับดิน เช่น คุณสมบัติของดินที่เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ต่างๆ การบริหารจัดการดินเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และสมดุลระหว่างมนุษย์กับทรัพยากรธรรมชาติ
THAILAND ECOSYSTEM SERVICE : WATER
น้ำ คือต้นทุนทางธรรมชาติที่สำคัญต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิต นำเสนอตั้งแต่วัฏจักรของน้ำ ในประเทศไทย การใช้ประโยชน์จากน้ำ แนวคิด และวิธีบริหารจัดการ รวมทั้งปัญหาของน้ำและวิธีการแก้ไข
THAILAND ECOREGION
ส่วนจัดแสดงนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนจัดแสดงสำหรับการอธิบายแนวคิด และความหมายของคำว่าเขตภูมินิเวศ (Ecoregion) ซึ่งเป็นการแบ่งพื้นที่ตามความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตตามชีวภูมิศาสตร์ (Biogeography) พื้นที่อีกส่วนหนึ่งเป็นการจำลองป่าที่มีความแตกต่างกัน 4 แห่ง ได้แก่ ป่าดิบเขา, ป่าเต็งรัง, ป่าดิบชื้น และป่าพรุ สำหรับพื้นที่ด้านนอกอาคาร ทำการจำลองพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเป็นระบบนิเวศดั้งเดิมของทุ่งรังสิต
ส่วนที่ 3 การจัดการทรัพยากรน้ำ
แสดงกำเนิดและการหมุนเวียนของน้ำในลักษณะวัฏจักร ความสำคัญของน้ำกับชีวิต ทั้งมนุษย์และ สิ่งแวดล้อม ในด้านของการองค์ประกอบในสิ่งมีชีวิต การเป็นที่อยู่อาศัย เป็นแหล่งอาหาร และก่อให้เกิดวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตแบบต่าง ๆ ความเปลี่ยนแปลงของน้ำและผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งในระดับโลกและภายในประเทศไทย อันนำไปสู่วิธีการบริหารจัดการและการแก้ปัญหาน้ำ เพื่อให้เกิดแนวทางในการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน
ส่วนที่ 4 การจัดการทรัพยากรดิน
ที่มาและกำเนิดของ “ผืนดิน” และการที่มนุษย์ตั้งแต่ยุคโบราณรู้จักใช้และจัดสรรประโยชน์บนผืนแผ่นดิน และเมื่อเกิดปัญหาจากการใช้ประโยชน์ จึงต้องมีการหาวิธีบริหารจัดการดินอย่างถูกต้อง เพื่อให้มนุษย์ยังคงมีทรัพยากรดินให้ใช้ได้อย่างยั่งยืน
ส่วนที่ 5 หอเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
แสดงถึงหลักการทรงงาน พระวิสัยทัศน์ และกระบวนการศึกษาปัญหาในธรรมชาติ อันเป็นที่มา ของโครงการในพระราชดำริกว่า 3,000 โครงการ และสิทธิบัตรในสิ่งประดิษฐ์อันเป็นประโยชน์ 8 รายการ ตลอดจนการเฉลิมพระเกียรติจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วโลก ต่อโครงการในพระราชดำริ ซึ่งแสดง ให้เห็นถึงการยอมรับในพระปรีชาสามารถและผลประโยชน์ของโครงการต่อประชาชนและภูมิภาคต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ประกอบด้วย
ส่วนที่ 6 การจัดการทรัพยากรน้ำในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก
เป็นการนำเสนอเกี่ยวกับสถานการณ์ของทรัพยากรน้ำในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก การใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ คุณค่าของ น้ำต่อวิถีชีวิต ของประชากรในภูมิภาค สถานการณ์ที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ รวมทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อเป็นการ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่สามารถใช้เป็นกรณีศึกษาและพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม อันจะนำไปสู่ การพัฒนาความร่วมมือเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของภูมิภาคอย่างยั่งยืนต่อไป
พิพิธภัณฑ์พระรามเก้าจะเปิดให้บริการปลายปี 2562 นี้ ที่คลองห้า ปทุมธานี รายละเอียด และขอขอบคุณข้อมูลต่างๆ จาก เว็บไซต์หลัก ของพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า แหล่งการเรียนรู็ใหม่ ในย่านปทุมธานี ที่ครั้งนี้ไปหนึ่งครั้งอาจได้เยี่ยมชมหลายพิพิธภัณฑ์ และใช้เวลาทั้งวันที่นั้นเลย เป็นกิจกรรมครอบครัวที่ทีมซิปอยากสนับสนุนอย่างยิ่ง ผู้จัดอีเว้นท์คนไหน เห็นช่วงทางการจัดอีเว้นท์ ที่ Target เป็นกลุ่มครอบครัวแล้ว ที่นี่ถือว่าตรงเป้าสุดๆ ไปเลย
ฝากติดตามข่าวสารงานอีเว้นท์กับ Zipevent ในช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ตามนี้เลย
Line: @Zipevent (อย่าลืมเติม @ ข้างหน้าด้วยนะคะ)
หรือจิ้มไปที่ลิงก์นี้ได้เลย @Zipevent
Instagram: @Zipevent
Website: www.zipeventapp.com
Twitter: @Zipevent
Facebook: @Zipevent