เมื่อพลาสติกต้องคิดใหม่ ใช่, พลาสติกคือวัสดุสังเคราะห์ที่มนุษย์สร้างขึ้น จากความท้าทายของทรัพยากรธรรมชาติที่กำลังลดลง ด้วยความสามารถในการขึ้นรูปปรับเปลี่ยนไปตามความคิดสร้างสรรค์ และการใช้งานที่ง่ายสะดวกสบาย พลาสติกจึงได้เข้าไปแทนที่ทุกอย่าง ตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด พลิกโฉมอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อมวลชน และเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์มาแล้วราว 150 ปี มาวันนี้ Zipevent อยากจะชวนให้มางาน Yes, PLASTIC Things to Rethink ที่ TCDC Bangkok ห้องแกลอรี ชั้น 1 ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้เท่านั้น ปิดวันจันทร์ 10:30 – 21:00 น. และในบทความนี้ จะทำให้ผู้อ่านเกิดความตระหนัก ก่อนไปชมนิทรรศการนี้กัน

เมื่ออวัยวะในร่างกายถูกทดแทนด้วยพลาสติก

ใครจะรู้ว่าคนที่เดินผ่านไปผ่านมา ในร่างกายนั้นประกอบไปด้วยพลาสติกทั้งหมดกี่แห่ง Plastikos ภาษากรีก แปลว่า ยืดหยุ่น ขึ้นรูปได้ ในทางการแพทย์ พลาสติกมีความยืดหยุ่นสูง เมื่อมาผสานกับกรรมวิธีการขึ้นรูป จะสามารถพัฒนาให้เกิดรูปทรงชิ้นส่วนอวัยวะเทียมสำหรับใช้ภายนอกและภายใน ให้เข้ากับลักษณะเฉพาะของเจ้าของ ข้อสำคัญคือร่างกายจะไม่รู้สึกว่าพลาสติกคือสิ่งแปลกปลอม จึงเกิดการเชื่อมติดกับเนื้อเยื่อทำให้เป็นส่วนหนึ่งของกันและกันได้ดี

PLASTIC Things

รูปภาพจาก Astron Lifesciences

      ปัจจุบันไทยมีอวัยวะเทียมที่ผลิตจากทั้งพลาสติกชีวภาพ และพลาสติกที่ไม่ย่อยสลายจำนวนมาก เช่น ข้อกระดูก และกระโหลกเทียม วัสดุเหล่านี้ไม่เพียงมาทดแทนร่างกายส่วนที่หายไป หรือเสื่อมสภาพให้แข็งแรงขึ้น แต่อาจเป็นการคืนความสมบูรณ์กลับสู่จิตใจของคนได้อีกครั้ง

ถุงพลาสติกละลายน้ำได้

PLASTIC Things

รูปภาพจาก Plastics Foresight

      ถุงจากมันสำปะหลังละลายในน้ำร้อน หรือ พลาสติกชีวภาพ พอลิเมอร์แห่งยุค Eco Warrior ถุงนี้ทำขึ้นจากวัตถุดิบทางการเกษตรที่ปลูกทดแทนได้ หรือไบโอพลาสติก ที่จะกลับคืนสู่ธรรมชาติได้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์เมื่อเลิกใช้ จึงได้รับความนิยมในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวมากที่สุด พลาสติกชีวภาพดูเหมือนมีต้นทุนการผลิตที่สูงเกือบสองเท่าของพลาสติกทั่วไป แต่เมื่อบวกลบกับค่าใช้จ่ายในการจัดการส่วนอื่น เช่น ไม่ต้องลดการคัดแยกกำจัดขยะสดออกจากขยะประเภทอื่น ไบโอพลาสติกก็ถือว่าคุ้มค่าในระยะยาว

ถนนพลาสติก

ถนนทดลองพลาสติก ทำจากพลาสติกรีไซเคิล เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขจุดอ่อนความไม่ทนร้อนและแรงกระแทก รวมถึงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่พบในแอสฟัลท์ หรือยางมะตอยแบบเดิม ถนนรีไซเคิลแข็งแรงมากกว่าคอนกรีตหรือยาง น้ำหนักเบา หลอมใช้ใหม่ได้ และลักษณะเป็นโพรง ทำให้สามารถออกแบบเป็นโมดูลาร์ถอดประกอบได้ นอกจากนี้ อินเดียยังคิดค้นถนนที่ใช้พลาสติกไม่ย่อยสลาย ผสมกับยางมะตอยเพื่อลดปัญหาขยะ หลุมบนผิวถนน แถมยังประหยัดงบประมาณในการซ่อมแซมได้มากกว่า 5 ปี

PLASTIC Things

รูปภาพจาก VolkerWessels

จากวัสดุสังเคราะห์สู่งานออกแบบมูลค่าสูง

Polyoxybenzylmethylenglycolanhydride ออกเสียง โพลีออกซีเบนเมทิลีนไกลคอลแอนไฮไดรด์ ชื่อทางวิทยาศาตร์ยาวยืดของเบคิไลต์ แสดงถึงโครงสร้างทางเคมีที่ถูกแต่งเติมได้มากชนิดจนไม่มีข้อจำกัดในวิธีขึ้นรูป เบคิไลต์ จึงมีบทบาทอย่างมากในวงการการออกแบบผลิตภัณฑ์ช่วงปี 1920 จนมาเป็นที่นิยมสุดๆ ในโลกแฟชั่นยุค 1930 เมื่อหญิงสาวอยากดูหรูหราในยามข้าวยากหมากแพง (ศตวรรษที่ 1930 เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่เริ่มที่สหรัฐอเมริกา หรือที่รู้จักกันในนาม The Great Depression) จึงเลือกเครื่องประดับพลาสติกที่เลียนแบบวัสดุหายากและราคาแพง เช่น หินอ่อน ไม้ กระดองเต่า อำพัน งาช้าง ไปจนถึงปะการัง ในวันนี้จิวเวลรี่จากเบคิไลต์กลายเป็นของสะสมที่มีราคาสูง เพราะถือเป็นงานที่มีรายละเอียดมาก เนื้อวัสดุแข็งแน่นหนา มีผิวสัมผัส เสียงกระทบ และกลิ่นที่ไม่เหมือนพลาสติกทั่วไป

PLASTIC Things

รูปภาพจาก Fifille Jolie

เสื้อแจ็คเก็ตที่รีไซเคิลได้ 100%

เพราะคิดมาก่อน จึงไม่เดือดร้อน กระบวนการรีไซเคิลใช้ต้นทุนทรัพยากร เวลา และพลังงาน ในการแปลสภาพวัสดุ ให้สามารถกลับมาใช้ใหม่ จะคุ้มค่าแค่ไหนหากเสื้อของเราทำจากวัสดุเพียงไม่กี่ชนิด และสามารถแปรสภาพกลับมาใช้ได้ทั้งตัว โดยไม่เหลือส่วนประกอบไหนให้เป็นขยะเลย แจ็กเก็ตจากสวีเดนตัวนี้ประกอบไปด้วยโพลีเอสเตอร์ 100% ส่วนของซิปกระเป๋าทำจากไนล่อน ที่มีสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 5 จากองค์ประกอบเสื้อทั้งตัว จึงยังถือว่าสามารถเข้ากระบวนการรีไซเคิลได้เต็มรูปแบบ

PLASTIC Things

รูปภาพจาก Tierra

กลยุทธ์เปลี่ยนโฉมบรรจุภัณฑ์พลาสติก

เศรษฐกิจพลาสติกใหม่เสนอ 3 กลยุทธ์ ที่จะช่วยให้เราควบคุมผลกระทบของพลาสติกได้ โดยเริ่มบรรจุภัณฑ์ คือ 1) พลาสติกจะต้องถูกออกแบบให้นำมาใช้ซ้ำได้ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ซึ่งจะเข้ามาแทนที่บรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียว 2) ร้อยละ 50 ของบรรจุภัณฑ์ต้องออกแบบตั้งแต่วัสดุ สี และรูปแบบ เพื่อให้ง่าย และประหยัดต้นทุนในการนำไปรีไซเคิล 3) ร้อยละ 30 ของพลาสติกที่ไม่สามารถใช้ซ้ำ หรือรีไซเคิลได้ เช่น พีวีซี ต้องใช้วัสดุอื่นทดแทน หรือใช้นวัตกรรมเข้ามาแก้ไข การออกแบบสำหรับอนาคต ต้องใช้ความสร้างสรรค์มากขึ้นกว่าที่เคย และจำเป็นต้องย้อนกลับไปคิดในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การเลือกใช้วัตถุดิบอย่างมีเป้าหมาย การนำไปใช้ และการทำอย่างไรเมื่อเลิกใช้

พลาสติก

งาน Yes, PLASTIC Things to Rethink

นิทรรศการ Yes, Plastic! Things to Rethink “เมื่อพลาสติกต้องคิดใหม่” เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) โดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และจีซี หรือบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เพื่อนำเสนอศักยภาพของวัสดุและความคิดสร้างสรรค์ พร้อมทั้งตั้งคำถามการใช้งานทั้งในแง่คุณสมบัติ ผลกระทบ การออกแบบ และการอยู่ร่วมกันกับพลาสติกในอนาคต

30 ตุลาคม 2018 – 17 กุมภาพันธ์ 2019 / 10.30 – 21.00 (ปิดวันจันทร์)

ห้องแกลอรี ชั้น 1 อาคารส่วนหลัง TCDC กรุงเทพฯ 

เข้าชมฟรี

รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก

ฝากติดตามข่าวสารงานอีเว้นท์กับ Zipevent ในช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ตามนี้เลย

Line: @Zipevent (อย่าลืมเติม @ ข้างหน้าด้วยนะคะ)

หรือจิ้มไปที่ลิงก์นี้ได้เลย @Zipevent

Instagram: @Zipevent

Website: www.zipeventapp.com

Twitter: @Zipevent

Facebook: @Zipevent

Comments

comments