*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์
เชื่อว่าใครหลายๆ คนคงมีงานอดิเรกที่ชอบทำอยู่เป็นประจำ และงานอดิเรกที่ว่าก็คงหนีไม่พ้นการมีหนังดีๆ สักเรื่องไว้ดูในยามว่าง แล้วก็คงปฎิเสธไม่ได้เหมือนกันว่าถ้าหากมีห้องเย็นๆ ขนมขบเคี้ยว และภาพยนตร์ดีๆ สักหนึ่งเรื่อง มันคงเป็นอะไรที่ลงตัวแบบสุดๆ
วันนี้เราจึงอยากจะหยิบภาพยนตร์ 4 เรื่องราวดีๆ ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของความรักหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ทุกข์ สุข และเศร้า ซึ่งเรื่องราวของหนังเต็มไปด้วยการแอบแฝงแง่คิดมากมาย มาแนะนำให้เพื่อนๆ ได้ดูกัน
1.
“Call me by your name and I’ll call you by mine.”(Call me by your name – 2017)
ภาพยนตร์ที่ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์กับการเริ่มต้นของความรัก เรียนรู้ที่จะรัก และการรู้จักกับรักครั้งแรก โดยถูกถ่ายทอดผ่านตัวละครอย่าง เอลิโอ (ทิโมธี ชาลาเมต์) เด็กหนุ่มวัยรุ่นอายุ 17 ปี ที่ดันไปมีความรู้สึกลึกซึ้งบางอย่างกับโอลิเวอร์ (อาร์มี แฮมเมอร์) หนุ่มนักศึกษาปริญญาเอกชาวอเมริกันที่มาอาศัยพักผ่อนในช่วงฤดูร้อนกับครอบครัวของเขาเพื่อเขียนงานวิทยานิพนธ์ของตนเองให้เสร็จ จุดเริ่มต้นของ Call me by your name เริ่มเล่าด้วยความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายของครอบครัวเอลิโอ และการเข้ามามีบทบาทของโอลิเวอร์อย่างค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ที่เล่าผ่านความรู้สึกของตัวละครของทั้งคู่เข้าอย่างมีชั้นเชิง จากรู้จักสู่การง้องอน และการมีใจให้กันตามลำดับ ถึงแม้ว่าจุดจบของหนังเรื่องนี้มันจะไม่ได้ลงเอยด้วยความสวยงามเสมอไป แต่มันคงเป็นความรักที่ยังจดจำฝังใจแบบไม่ลืมเลือน ดั่งกับที่ใครๆ หลายคนบอกไว้ ว่ายังไงรักครั้งแรก (แม่ง) ลืมยาก
2.
“You can’t blend in you were born to standout”(Wonder – 2017)
Wonder เป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ดีๆ ที่อยากจะแนะนำให้คุณได้ดูกัน ภาพยนตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของเด็กชายวัย 10 ขวบนามว่า อ๊อกกี้ พูลล์แมน ที่ป่วยเป็นโรค Treacher collins syndrome (เทรชเชอร์ คอลลินส์) คือ โรคทางพันธุกรรมที่ทำให้การเจริญเติบโตในส่วนของใบหน้านั้นผิดปกติ อ๊อกกี้ จึงจำเป็นที่จะต้องเทียวเข้าเทียวออกโรงจากพยาบาลเป็นว่าเล่น และเรียนแบบโฮมสคูลมาตลอด การเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นเมื่อพ่อกับแม่ (โอเว็น วิลสัน และ จูเลีย โรเบิร์ต) อยากให้อ๊อกกี้เข้าเรียนในโรงเรียนแบบเด็กคนอื่นๆ ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วว่ามันเป็นเรื่องยากที่ไม่ใช่เฉพาะแค่ตัวของอ๊อกกี้เท่านั้น แต่มันยังเป็นเรื่องยากสำหรับพ่อและแม่เองด้วยเช่นกันที่ไม่แน่ใจว่าสังคมภายนอกจะยอมรับตัวของอ๊อกกี้ได้มากหรือน้อยเพียงใด ภาพยนตร์ Wonder ถือว่าเป็นภาพยนตร์คุณภาพ (โครต) ดีอีกหนึ่งเรื่องที่หยิบยกประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นแกล้ง หรือการที่ตัวเองพยายามจะมีตัวตนในกลุ่มของเพื่อน ผสมกับการเล่นเข้าไปถึงประเด็นในความสัมพันธ์กับครอบครัวที่ไม่ได้มีเพียงแค่อ๊อกกี้เท่านั้น (พี่สาวของอ๊อกกี้ด้วย) เราจึงกล้าการันตีเลยว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ควรค่าแก่การดูให้ได้สักครั้งในชีวิต
3.
“This is not my body. I have to let it go”(Danish Girl – 2016)
ในเมื่อร่างกายคุณไม่ได้เป็นคุณอีกต่อไป The Danish Girl ภาพยนตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของโศกนาฎกรรมความสัมพันธ์ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อไอนาร์ (เอ็ดดี้ เรดเมย์น) และ เกอร์ด้า (อลิเซีย วิกันเดอร์) จิตรกรสองสามี-ภรรยาที่แต่งงานอยู่ด้วยกันมานาน 6 ปี และด้วยเหตุการณ์บางอย่างที่ได้จับพลัดจับผลูทำให้ไอนาร์ต้องไปเป็นแบบเกือบหญิงให้กับภรรยาสุดที่รักของเขาเพื่องานวาดภาพที่ยังไม่สมบูรณ์ เหตุการณ์ในภาพยนตร์ดำเนินไปอย่างเรื่อยๆ และค่อยๆ ไล่ระดับความเป็นไปของตัวละครมากขึ้นอย่างลึกซึ้งของ “ลิลี่” ชื่อของหญิงสาวที่เพื่อนของเกอร์ด้าภรรยาสุดที่รักเรียกแบบเล่นๆ เมื่อเห็นไอนาร์แต่งตัวเป็นผู้หญิง ผสมกับความรู้สึกต่างๆ ที่เริ่มทวีคูณเพิ่มขึ้น จากการแต่งหญิงครั้งที่1 สู่ครั้งที่2 จนลามไปถึงการเผลอไปมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวที่ลิลี่ได้พบรักคนหนุ่มคนหนึ่งจากงานเลี้ยง และด้วยความคิดที่ว่าร่างที่ฉันเกิดมา มันไม่ใช่ฉันอีกต่อไป เลยอยากที่จะเปลี่ยนตัวเองให้สมบูรณ์ในแบบที่ตัวเองปรารถนา การผ่าตัดแปลงเพศจึงเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าการผ่าตัดในครั้งแรกจะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี แต่การที่จะแปลงสภาพจากชายให้กลายมาเป็นหญิงมันไม่สามารถทำให้จบลงได้เพียงแค่ครั้งเดียว ซึ่งแน่นอนที่สุดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะทำให้คุณได้เห็นถึงพลังของการค้นหาตัวเองอย่างสุดแรงกล้า ถึงแม้ว่าต้องแลกมาด้วยความสูญเสีย
4.
“คนที่คิดว่าความตายไม่น่ากลัว คือคนที่ไม่มีใครให้คิดถึง”(ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ – 2015)
ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ ภาพยนตร์ที่ตีกรอบชีวิตของคนวัยทำงานออกมาได้เรียล และสมจริงที่สุด เส้นเรื่องเริ่มเล่าผ่านมุมมองของ ยุ่น (ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์) ฟรีแลนซ์นักรีทัชภาพมือทอง ที่รับงานหมดไม่ว่าจะงานเล็กหรืองานใหญ่ ภาพยนตร์ค่อยๆ เผยให้เห็นมุมความคิดของคนในวัยทำงานอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นความกดดัน ระยะเวลา หรือการจำเป็นที่ต้องรักษามาตรฐานในการทำงานไว้ให้ไม่ขาดตกบกพร่อง จุดเริ่มต้นของปัญหาเกิดขึ้นเมื่ออยู่ดีๆ ร่างกายของยุ่นได้มีอาการต่อต้านการทำงานอย่างหนัก ทำให้เกิดอาการแพ้มีผื่นขึ้นที่ผิวหนัง จึงมีเหตุต้องไปโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาอาการเหล่านั้น โดยมีหมออิม (ดาวิกา โฮร์เน่) เป็นหมอเจ้าของไข้ ซึ่งในภาพยนตร์ไม่ได้ทำมาเพื่อให้มองชีวิตการทำงานของฟรีแลนซ์อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสะท้อนไปถึงอาชีพที่ใครๆ หลายๆ คนบอกว่าดีอย่างอาชีพหมอ ที่ต้องการจะสื่อว่าหมอก็เป็นแค่คนธรรมดาทั่วไปที่สามารถผิดพลาดได้เหมือนกัน ปฎิเสธไม่ได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ไทยอีกหนึ่งเรื่องที่แอบแฝง และสอดแทรกความสัจจริงในอาชีพหน้าที่การงานได้อย่างดี และสำหรับใครที่ยังไม่ได้ดู จงไปดู แล้วคุณจะได้รู้ว่าฟรีแลนซ์จริงๆ แล้วเขาไม่ได้ฟรีเหมือนชื่ออาชีพซะหน่อย
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาดีๆ ที่เราได้ยกขึ้นมาให้ทุกๆ คนได้ลองดูกันเท่านั้นนะจ๊ะ
สามารถเข้าไปติดตามบทความเพิ่มเติมได้ที่ www.zipeventapp.com/blog