วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้นใกล้ตัวกว่าที่เราคิด

เป็นเรื่องจริงที่เราปฏิเสธไม่ได้ บางคนอาจจะคิดว่าตัวเองไม่ได้เกี่ยวข้องกับอะไรด้านนี้เท่าไหร่ คิดว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก แต่ความจริงแล้ว มันเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากๆ เลยนะ เรียกได้ว่าทุกสิ่งที่เราข้องเกี่ยวในชีวิตประจำวันก็แทบจะมีเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาให้เราได้เรียนรู้และพัฒนาอยู่เสมอ

สำหรับงาน NAC 2018 การประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 14 จัดโดย สวทช (NSTDA) ที่ปกติแล้วจะมีงานวิจัยดีๆ มากมายจัดขึ้นให้เราได้เข้าไปเรียนรู้กัน ซึ่งในปีนี้ก็เป็นอีกปีที่เราอยากจะชวนเพื่อนๆ ทุกคนไปค้นหาสิ่งใหม่ๆ และพบกับประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์เจ๋งๆ เพราะอาจจะมีหลายอย่างที่ทำให้เราแปลกใจก็ได้ อย่างเช่นการใช้คอนเซ็ปต์ของ Design Thinking มาผสมกับเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ก็สามารถสร้างนวัตกรรมที่มีประโยชน์ได้หลายผลงานเลย

ซึ่งวันนี้เรามีไฮไลท์นวัตกรรมเทคโนโลยีที่น่าสนใจที่ไปออกบูธภายในงานมาบอกต่อด้วยนะ

ผ้ากระตุ้นสมอง AKIKO

ผ้าห่มสำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องประสาทสัมผัสและความทรงจำ ออกแบบมาให้ผู้สูงอายุได้รู้สึกผ่อนคลายกับสิ่งต่างๆ มากขึ้น ให้คุณปู่คุณย่าของเราได้มีโอกาสฝึกฝนสมาธิและพัฒนาในเรื่องประสาทสัมผัสของพวกเขา

ตัวผ้าห่มจะเป็นผ้าแบบไทยๆ ออกแบบให้มีลวดลายและสีสันหลากตา แถมยังมีรูปภาพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปครอบครัวหรือเพื่อนๆ ให้ผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยสมองเสื่อมรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นนั่นเอง ความพิเศษอยู่ตรงที่เราสามารถสร้างเกมส์หรือกิจกรรมเล็กๆ จากผ้าห่มให้ผู้สูงอายุได้เล่นด้วยนะ

ความน่ารักอยู่ตรงที่การเอามาห่มให้น้องๆ ตุ๊กตา น้องหมา น้องช้าง เพิ่มความน่ารักเข้าไปอีก เป็นผ้าห่มที่ไม่น่าเบื่อจริงๆ ใครที่สนใจสามารถเข้าไปทดลองได้ที่ : โรงพยาบาลรามาธิบดีและสถาบันประสาทวิทยา (ศูนย์ผู้สูงวัยสุขกายสุขใจ)

เกมส์ฝึกสมอง MONICA

อีกหนึ่งเกมส์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุเช่นกัน เป็นเกมส์ที่เน้นการฝึกฝน สร้างเสริมและรักษาความสามารถต่างๆ ที่เกี่ยวกับสมอง เช่น เรื่องสมาธิ ความจำ ความเข้าใจและการตัดสินใจ ซึ่งถ้าคนเราได้รับการพัฒนาและการฝึกฝนในด้านพวกนี้อยู่เรื่อยๆ ระบบการทำงานของสมองเราก็จะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นแน่นอน

คอนเซ็ปต์หลักๆ ของเกมส์นี้จะเป็นในเชิงของการใช้ความจำและฝึกสมาธิ โดยการที่เลือกตอบแค่ ถูก หรือ ผิด เท่านั้น ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน แค่เลือกตอบว่าภาพที่เห็นอยู่นั้นเหมือนภาพที่ก่อนหน้านี้หรือเปล่า โดยรูปภาพก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ผู้สูงอายุก็จะมีโอกาสฝึกสมาธิและความจำผ่านเกมส์ตัวนี้นั่นเอง

ซึ่งเจ้าเครื่องนี้สามารถนำไปใช้ได้ทั้งที่บ้าน สถานดูแลผู้สูงอายุหรือจะเป็นโรงพยาบาลก็ได้เช่นกัน ซึ่งในตอนนี้มีการนำไปใช้ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีและสถาบันประสาทวิทยา (ศูนย์ผู้สูงวัยสุขกายสุขใจ) เรียบร้อยแล้ว

ระบบการผลิตแผ่นรองฝ่าเท้าเฉพาะบุคคลด้วยระบบคอมพิวเตอร์

ไม่ว่าจะเพศไหน วัยไหน ก็อาจจะพบเจอกับปัญหาอาการเจ็บฝ่าเท้ากันมาบ้าง ซึ่งเกิดได้หลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน โครงสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อของเรา หรือการกระจายน้ำหนักของฝ่าเท้า ที่บางคนอาจจะมีการกระจายแบบผิดๆ จึงทำให้เกิดอาการปวดเท้าต่างๆ นี้ขึ้น

เมื่อได้ระบบคอมพิวเตอร์มาช่วย การจัดการ การออกแบบ ดีไซน์ ของแผ่นรองเท้าก็ง่ายและแม่นยำมากขึ้น ถูกต้องตามสรีระของเท้าแต่ละคนจริงๆ โดยที่ไม่ต้องรอให้ผู้เชี่ยวชาญ (ที่มีจำนวนจำกัด) มาคอยดูแลตลอด คนที่อยู่ต่างจังหวัด หรือ โรงพยาบาลไกลๆ ก็สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีตัวนี้ได้

แผ่นรองเท้าเฉพาะบุคคล (Custom Made Insole) จะช่วยให้แผ่นรองฝ่าเท้าได้มาตรฐานและได้คุณภาพดี แถมราคายังเหมาะสมด้วยนะ เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ตอบโจทย์มากๆ เลย

eLysozyme จากไข่ขาว

“ไข่” ทำประโยชน์ต่อยอดได้มากกว่าที่เราคิดนะ นวัตกรรม eLysozyme จากไข่ขาวนั้นเกิดจากการสกัดสาร ไลโซไซม์- โปรตีนชนิดหนึ่งที่อยู่ในไข่ขาวของไข่ไก่ ซึ่งในอุตสาหกรรมอาหารมักจะนำไลโซไซม์มาใช้ประโยชน์ในการยับยั้งแบคทีเรียหรือสารกันบูดจากธรรมชาติ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ ‘eLysozyme’ ที่ต่อยอดออกมาช่วยในเรื่องของการยับยั้งแบคทีเรียในอาหารคนและอาหารสัตว์

#ไลโซไซม์ ได้รับการยอมรับจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์กรอนามัยโลก (WHO) และหลายๆ ประเทศในยุโรปและเอเชีย

เทคโนโลยีการกักเก็บสารสกัดสมุนไพรอนุภาคนาโนอิมัลเจล

น้ำมันหอมระเหย สารสกัดสมุนไพร โลชั่นและครีมต่างๆ ที่เป็นของใช้ทั่วไปที่หลายๆ คนคงมีติดตัวในชีวิตประจำวัน แต่บางชนิดก็อาจจะมีสารเคมีต่างๆ อยู่เยอะจนเราอาจจะไม่ค่อยรู้สึกปลอดภัยสักเท่าไหร่ นวัตกรรม ‘เทคโนโลยีการกักเก็บสารสกัดสมุนไรอนุภาคนาโนอิมัลเจล’ จะช่วยทำให้ตัวเจลมีประสิทธิภาพได้ดียิ่งขึ้น

ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทำออกมาให้เราเห็นก็มีทั้ง Hand cream เพิ่มความชุ่มชื้นแถมยังทำให้ผิวพรรณนุ่มขึ้นอีก หรือจะเป็นครีมแก้ปวดเมื่อย บรรเทาการอักเสบของกล้ามเนื้อ ใช้ได้ทั้งนักกีฬา พนักงานออฟฟิศ และ ผู้สูงอายุ เลยนะ

A Real-Time Transcription System

คำว่า Real-Time ก็เรียลไทม์จริงๆ นะ ระบบถอดความเสียงพูดแบบทันต่อเวลาผ่านระบบสื่อสารทางไกล เพื่อช่วยให้คนพิการทางการได้ยินและผู้สูงอายุที่มีปัญหาทางการได้ยิน สามารถเข้าใจเนื้อหาการประชุมหรือรายการทีวีต่างๆ ได้ เรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมที่พัฒนาออกมาได้ตอบโจทย์ปัญหาด้านนี้จริงๆ

ซึ่งจะใช้เทคโนโลยีในการส่งสัญญาณเสียงพูดผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไปยังศูนย์ถอดความที่มีเจ้าหน้าที่คอยดูแล โดยใช้เทคนิคแบ่งพิมพ์เพื่อให้ได้ข้อความที่ถูกต้องที่สุดและเรียลไทม์ที่สุด แถมรูปแบบการรับชมก็มีหลากหลายทาง เช่น รับชมผ่านจอมอนิเตอร์ หรือ ผ่าน Application บนมือถือก็ได้เช่นกัน

ยังมีงานวิจัยและนวัตกรรมเจ๋งๆ ให้เราไปศึกษา เยี่ยมชมอีกเพียบ ในงาน NAC 2018 การประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 14 ตอบโจทย์ประเทศไทยด้วยงานวิจัยประเด็นมุ่งเน้น ! วันที่ 9-13 มีนาคม 2561 ที่ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถ.พหลโยธิน จ.ปทุมธานี แล้วไปสนุกกับวิทยาศาสตร์ด้วยกันนะ : )

ลงทะเบียนออนไลน์ได้ที่ www.nstda.or.th/nac

Comments

comments

Author

You only live once